ถอนฟันคุดที่ไหนดี? เจ็บน้อย ปลอดภัย พร้อมไขข้อข้องใจเรื่องผ่าฟันคุด

ถอนฟันคุดที่ไหนดี? เจ็บน้อย ปลอดภัย พร้อมไขข้อข้องใจเรื่องผ่าฟันคุด

หลายคนอาจยังสงสัยว่า ฟันคุดคืออะไร? ทำไมต้องผ่า? หรือการผ่าฟันคุดแตกต่างกับการถอนฟันคุดไหม? ราคาเท่าไหร่? แล้วถ้าไม่ผ่าฟันคุดจะเกิดอะไรไหม? สำหรับใครที่มีคำถามมากมายและยังไม่ได้คำตอบ ไม่ต้องกังวลไป บทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าฟันคุดที่จะทำให้ข้อสงสัยกระจ่างขึ้นแน่นอน!
ทำไมถึงต้องถอน หรือผ่าฟันคุดออก?

ทำไมถึงต้องถอน หรือผ่าฟันคุดออก?

ปกติคนเราจะมีฟันแท้ 32 ซี่ โดยมี 4 ซี่ เป็นฟันกรามด้านในที่สุด สำหรับบางคนนั้น ฟันกรามด้านในอาจงอกขึ้นมาได้ แต่บางคนอาจจะมีกระดูก หรือ เหงือกมาปิด ทำให้ฟันซี่นั้นไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ หรืองอกเอียงไปชนฟันใกล้เคียง ซึ่งฟันลักษณะนี้ เรียกว่า ฟันคุด หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ผ่าฟันคุดออก จะสร้างอาการปวด และอาจเกิดปัญหาจนเป็นอันตรายได้
นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลที่ทำให้การผ่าหรือถอนฟันคุดเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานๆ ดังนี้
• ป้องกันอาการปวดจากฟันคุด หากรากฟันคุดยาวไปกดเส้นเลือด หรือเส้นประสาทที่อยู่ในขากรรไกร อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทและเส้นเลือดนั้นได้
• ป้องกันเหงือกบวมหรืออักเสบ เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดใต้เหงือกแต่ไม่สามารถทำความสะอาดได้
• ป้องกันฟันที่อยู่ใกล้เคียงไม่ให้กลายเป็นฟันผุ
• ป้องกันการละลายตัวของกระดูก เนื่องจากฟันคุดมีแรงดันที่พยายามดันขึ้นมาจนอาจทำให้กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป
• ป้องกันการเกิดถุงน้ำ หรือเนื้องอกจากฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน
• ป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก
• ป้องกันการเกิดผลกระทบต่อการจัดฟัน
เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าฟันคุด

เมื่อไหร่ที่ต้องผ่าฟันคุด

การผ่าฟันคุดมีขั้นตอนซับซ้อน ขึ้นอยู่กับลักษณะ รวมถึงตำแหน่งของฟันคุด ทำให้ต้องระมัดระวังและอาจใช้เวลานานกว่าการถอนฟันตามปกติ ดังนั้นในเบื้องต้น เมื่อพบฟันคุดควรผ่าทันที หรือเตรียมตัวไปผ่าฟันคุดให้เร็วที่สุด
ช่วงอายุ 15 -20 ปี ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมในการตรวจประเมินว่าฟันกรามด้านในสุดมีแนวโน้มที่จะเป็นฟันคุดหรือไม่ ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นฟันอาจจะยังไม่ขึ้นในช่องปากก็ตาม เพราะเป็นช่วงที่ฟันยังสร้างรากไม่เสร็จสมบูรณ์ และเป็นช่วงที่ผ่าได้ง่ายที่สุด
ถอนฟันคุด vs ผ่าฟันคุด ต่างกันอย่างไร?

ถอนฟันคุด vs ผ่าฟันคุด ต่างกันอย่างไร?

ในกรณีฟันกรามซี่ในสุดไม่ได้เป็นฟันคุด สามารถขึ้นมาในช่องปากได้อย่างปกติ แต่อาจทำความสะอาดไม่ถึง หรือขึ้นในตำแหน่งที่ทำให้กัดโดนกระพุ้งแก้ม จึงมีความจำเป็นที่ต้องถอนฟันซี่นั้นออก เรียกว่า “ถอนฟันคุด” ซึ่งแตกต่างจาก “ผ่าฟันคุด” ตรงที่ขั้นตอนการถอนฟันคุดไม่จำเป็นต้องเปิดเหงือกหรือกรอกระดูกเพิ่มเติม
การถอนฟันคุดถือเป็นการถอนฟันตามปกติ แต่ถ้าฟันกรามซี่ในเป็นฟันคุด ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ ต้องทำการผ่าฟันคุด ซึ่งมีขั้นตอนยากกว่าการถอนฟันคุด ทันตแพทย์ต้องทำการเปิดเหงือก กรอกระดูก หรือแบ่งฟันเป็นชิ้นๆ และมีการเย็บแผลด้วยนั่นเอง
เลือกผ่าฟันคุดที่ไหนดี? ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

เลือกผ่าฟันคุดที่ไหนดี? ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

ไม่ว่าจะเป็นผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด ก็ควรเลือกโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ให้บริการโดยทันตแพทย์ที่มีความชำนาญ มาดูเหตุผลกันว่าทำไมการเลือกสถานที่ผ่าหรือถอนฟันคุดถึงมีความสำคัญ เผื่อคนที่กำลังมองหาที่ถอนฟันคุด จะสามารถตัดสินใจเลือกสถานที่ที่เหมาะสม เข้ารับการรักษา และลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงได้อย่างปลอดภัย

มีทันตแพทย์เฉพาะทาง

การผ่าฟันคุดจำเป็นต้องใช้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จบสาขามาโดยตรง เพราะฟันคุดมักเกิดขึ้นในบริเวณที่ใกล้กับเส้นประสาท หากมีการถอนหรือผ่าที่ผิดพลาด อาจทำให้เส้นประสาทนั้นได้รับการกระทบกระเทือนจนส่งผลให้เกิดอาการชาหรือผลต่อความรู้สึกได้ ดังนั้นจึงควรเลือกคลินิกที่มีทันตแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับการผ่าตัดหรือถอนฟันคุดโดยตรง

คลินิกได้รับการรับรอง

คลินิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ไม่ว่าจากสถาบันหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีความน่าเชื่อถือ ทำให้สามารถวางใจได้ในเรื่องของการรักษาและเทคโนโลยีทางด้านทันตกรรม

คลินิกสะอาด และปลอดภัย

ควรเลือกคลินิกที่มีการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อเครื่องมือต่างๆ อย่างดีเป็นประจำ มีการตรวจเช็กสภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ก่อนใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความสะอาด และความปลอดภัยของตนเอง ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อ ที่อาจเกิดขึ้นได้

มีค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล

คลินิกควรคิดค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันที่เหมาะสม พิจารณาดูว่าราคาในการผ่าฟันคุดนั้นสมเหตุสมผลกับอาการฟันที่เกิดขึ้นหรือไม่ หรือเลือกคลินิกที่สามารถเบิกใช้สิทธิเบิกประกันสังคมได้ หากเลือกคลินิกที่มีค่าใช้จ่ายไม่สมเหตุสมผล อาจได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกต้องและโดนเอาเปรียบได้
ขั้นตอนการถอนหรือผ่าฟันคุด

ขั้นตอนการถอนหรือผ่าฟันคุด

หลายคนอาจกังวลใจเมื่อต้องไปถอนหรือผ่าฟันคุด แต่อันที่จริงแล้วขั้นตอนการถอนหรือผ่าฟันคุดนั้นไม่ได้ยุ่งยากหรือน่ากลัวเลย มาดูขั้นตอนเบื้องต้นกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

วินิจฉัย

ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยว่าควรถอนฟันคุดหรือผ่าฟันคุดแบบไหน เลือกวิธีการที่เหมาะสม โดยขึ้นอยู่กับลักษณะและตำแหน่งฟันคุดของแต่ละคน

เอกซเรย์ช่องปาก

เอกซเรย์ช่องปากเป็นขั้นตอนที่ทำร่วมกับการตรวจประเมิน เพื่อหาตำแหน่งฟันคุดที่แน่นอน เพื่อความที่จะสามารถทำทันตกรรมได้อย่างแม่นยำ

เตรียมช่องปาก

เตรียมช่องปากและบริเวณฟันที่จะทำทันตกรรม โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่แบบป้ายก่อน จากนั้นทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการผ่าหรือถอนฟันคุดออก

ดำเนินการผ่าหรือถอน

เมื่อยาชาออกฤทธิ์เพียงพอแล้ว จะทำการผ่าหรือถอนฟันคุดเป็นลำดับต่อมา โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
• การผ่าตัดเปิดเหงือก
• การถอนฟันคุดออก ทันตแพทย์อาจพิจารณาว่าต้องมีการกรอกระดูกด้วยหรือไม่
• การเย็บปิดปากแผล
ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม? ปล่อยไว้อันตราย! ผลเสียของการปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ ไม่ผ่า หรือถอน

ฟันคุดไม่ผ่าได้ไหม? ปล่อยไว้อันตราย! ผลเสียของการปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ ไม่ผ่า หรือถอน

แนะนำให้ถอนหรือผ่าออก แม้ไม่มีอาการแสดงออกก็ตาม เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ ฟันก็ไม่สามารถงอกขึ้นได้ อาจเกิดผลกระทบหรือผลแทรกซ้อน กลายเป็นปัญหาในช่องปากตามมาได้ เช่น อาการปวดฟัน อาการบวมหรือติดเชื้อ เกิดถุงน้ำหรือเกิดซีสต์ ฟันซี่ข้างเคียงผุ หรือเกิดกลิ่นปาก เป็นต้น
หากปล่อยไว้จนอายุมากขึ้น อาจยิ่งมีผลข้างเคียง เพราะรากฟันโตอย่างสมบูรณ์ จะทำการผ่าตัดได้ยากกว่า ผลแทรกซ้อนอาจมีมาก จนฟื้นตัวได้ช้า

ผ่าฟันคุดราคาเท่าไหร่? แพงไหม?

การถอนฟันคุดและการผ่าฟันคุดราคาไม่แพงมาก โดยทั่วไปการถอนฟันคุดราคาจะอยู่ที่ประมาณ 800 – 1,500 บาท และการผ่าฟันคุดราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 3,500 บาท ซึ่งราคาในการให้บริการจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเคส ทั้งนี้ทันตแพทย์จะประเมินและแจ้งราคาก่อนทำการรักษา
Q & A คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการถอนและผ่าฟันคุด

Q & A คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการถอนและผ่าฟันคุด

ถาม – ตอบ คำถามที่พบบ่อยและไขข้อสงสัยในการถอนและผ่าฟันคุด

ผ่าฟันคุดเจ็บไหม?

การผ่าฟันคุดจะมีการใช้ยาชา เมื่อยาชาเริ่มออกฤทธิ์ ยังคงมีอาการเหมือนโดนกด หรือรู้สึกสั่นสะเทือนอยู่เล็กน้อยในช่องปาก หลังยาชาหมดฤทธิ์ อาจมีอาการปวดอยู่ประมาณ 2 – 3 วัน หากทันตแพทย์มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูง ความรวดเร็วและแม่นยำในการผ่าตัดก็จะมากขึ้น แผลผ่าก็จะเล็กและหายได้เร็ว

ผ่าฟันคุดใช้เวลานานไหม?

ระยะเวลาในการผ่าฟันคุด จะใช้เวลาประมาณ 15 – 60 นาที ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของฟันคุด และความมากประสบการณ์ของทันตแพทย์

ผ่าฟันคุดกี่วันถึงหายดี?

ส่วนใหญ่ร่างกายจะยังมีความเจ็บปวดหลังผ่าฟันคุด 2 – 3 ชั่วโมง หลังยาชาหมดฤทธิ์ แล้วอาการเจ็บหรือปวดจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับหลังผ่าฟันคุดประมาณ 2 – 3 วัน ส่วนระยะเวลาในการฟื้นตัวจนกลับเป็นปกตินั้น ประมาณ 3 – 4 วัน หรือไม่เกิน 1 – 2 สัปดาห์ หากมีการกรอกระดูกอาจต้องรอ 1 – 2 เดือน เพื่อให้แผลผ่าฟันคุดกลับมาปิดสนิท

ยาชาอยู่ได้นานแค่ไหน?

โดยทั่วไปแล้ว ยาชาจะอยู่ได้นาน 2 – 4 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิด ปริมาณ และเทคนิคการฉีดยาชา ทั้งนี้การฉีดยาชาในฟันล่าง จะรู้สึกชานานและชาเป็นบริเวณกว้างกว่าการฉีดยาในฟันบน

ถอนฟันคุดแล้วหน้าเรียวจริงไหม?

ถอนฟันคุดแล้วหน้าเรียวเป็นเรื่องไม่จริง การผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุด ไม่ได้ช่วยทำให้ใบหน้าเรียวลง เพราะไม่ได้ทำให้ขากรรไกรมีขนาดเล็กลง เช่นเดียวกันกับความเชื่อจัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน ที่ไม่ได้ช่วยให้หน้าเรียวอย่างที่เข้าใจ

หลังผ่าฟันคุดกี่วันถึงทานอาหารได้?

ในระยะพักฟื้นตัวช่วงแรกจะไม่สามารถทานอาหารตามปกติได้ แต่ก็ไม่ควรงดอาหาร โดยใน 1 – 2 วันแรกควรทานอาหารอ่อนๆ และหลีกเลี่ยงอาหารร้อนหรือรสจัด

ทำอย่างไรให้ฟื้นตัวไวหลังผ่าฟันคุด?

ภายหลังผ่าฟันคุด มีข้อควรปฏิบัติเพื่อดูแลตนเอง คือ ประคบเย็นทันทีหลังการผ่าตัด ทานอาหารอ่อน หรือรสไม่จัด หลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดในการดื่มน้ำ ทานยาตามที่ทันตแพทย์สั่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อให้ฟื้นตัวได้ไว
การถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุดนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด เพราะว่าการนำฟันคุดออกโดยทันตแพทย์ผู้เฉพาะทางนั้นจะช่วยให้การทำทันตกรรมมีความปลอดภัย ยิ่งในบางรายอาจจะรู้สึกไม่เจ็บมากหากเป็นการผ่าโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์ ดังนั้น ถ้าหากมีฟันคุด และยังไม่ได้นำออก ก็ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อปรึกษาและนำออกให้ไวที่สุด เพราะว่ายิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งผ่าตัดนำฟันคุดได้ยาก และถ้าปล่อยไว้นานๆ ก็อาจจะมีอาการลุกลามไปยังฟันซี่ข้างๆ หรือมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนตามมาได้