การถอนฟันเป็นวิธีสุดท้ายที่ต้องทำเพื่อรักษาสุขภาพปากเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องเสียฟันไป หลายคนมักตั้งคำถามน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ถอนฟันเจ็บไหม? ถ้าถอนฟันแล้วจะรู้สึกเจ็บกี่วัน? ไปจนถึงหากต้องถอนฟัน จะมีราคาค่าใช้จ่ายอยู่ที่เท่าไหร่? และในทุกความสงสัย PLUS Dental Clinic ได้รวบรวมคำตอบและเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการถอนฟันมาไว้ในบทความนี้แล้ว
การถอนฟัน คือ วิธีการรักษาปัญหาในปากด้วยการถอนฟันที่มีปัญหา หรือฟันอาจสร้างปัญหาในอนาคตได้ออกไป ทั้งนี้การถอนฟันถือเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ทันตแพทย์จะพิจารณาในการรักษา ซึ่งโดยปกติแล้ว ทันตแพทย์จะรักษาด้วยวิธีอื่นก่อนเสมอ แต่หากรักษาแล้วไม่ได้ผล หรือมีความจำเป็น ไม่สามารถเลี่ยงได้ ก็จะใช้วิธีนี้เป็นหนทางรักษาในท้ายที่สุด
โดยทั่วไปอาการที่นำไปสู่วิธีรักษาด้วยการถอนฟัน มักเป็นอาการรุนแรง และต้องได้รับวินิจฉัยจากทันตแพทย์ก่อนเสมอ ซึ่งอาการเบื้องต้นต่อไปนี้ อาจเป็นเหตุบ่งบอกว่าฟันของคุณกำลังมีปัญหา และควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
• มีอาการฟันผุมาก ทะลุโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองปลายรากฟัน
• ฟันมีอาการของโรคปริทันต์อย่างรุนแรง
• ฟันหรือขากรรไกรหักจากอุบัติเหตุที่กระเทือนฟัน เช่น รากฟันหัก ฟันแตก
• ฟันที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ฟันคุด ฟันเกิน หรือฟันแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งาน และงอกในตำแหน่งผิดปกติหรือฟันที่ไม่สามารถงอกได้อย่างปกติในช่องปาก
• ฟันที่มีพยาธิสภาพของกระดูกรอบๆ รากฟัน เช่น เกิดถุงน้ำ เนื้องอก ซีสต์ กระดูกขาดเลือด
ซึ่งเหตุเหล่านี้อาจมีอาการร่วมที่สังเกตเห็นได้ เช่น ปวดฟันอย่างรุนแรงในระยะสั้นหรือยาวนาน มีอาการบวมบริเวณใบหน้าอย่างรุนแรง
การถอนฟันแบบทั่วไปจะทำเป็นซี่ๆ ซึ่งทำให้ขั้นตอนการทำไม่ซับซ้อนมาก ในขณะกรณีที่ซับซ้อนขึ้นอาจมีขั้นตอนที่เฉพาะขึ้น ซึ่งขั้นตอนอาจมีดังนี้
1. อาจมีการทำเอกซเรย์เพื่อจะได้เห็นตำแหน่งของฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะสามารถประเมินระดับความซับซ้อนของการถอนฟันได้
2. ในวันที่ทำการถอนฟัน จะต้องถอดอุปกรณ์ในปากที่สวมไว้ออก เช่น ฟันปลอม หรือ รีเทนเนอร์
3. ทันตแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่รอบๆ ฟันไม่รู้สึกเจ็บ แต่อาจยังรู้สึกได้ว่ามีการถอนฟันอยู่
4. ทันตแพทย์ จะใช้อุปกรณ์แซะเหงือกช่วยในการถอนฟัน
5. ทันตแพทย์จะค่อยๆ โยกฟันทีละนิดอย่างนุ่มนวล จนฟันหลุดออกมา
6. จากนั้นจะใช้ที่คีบ คีบฟันออก
7. หลังจากถอนฟันเสร็จ ทันตแพทย์จะให้กัดผ้าก๊อซที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ประมาณ 30-60 นาที เพื่อให้เลือดหยุดไหล
8. นัดหมายพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็กแผลประมาณ 5-7 วันหลังจากวันที่ถอนฟัน
เมื่อผ่านขั้นตอนเหล่านี้ไปก็จะถือว่าเสร็จสิ้นการถอนฟันไปอย่างเรียบร้อย
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการถอนฟันมีอะไรบ้าง?
1. ชี้แจงประวัติสุขภาพของตนเองแก่ทันตแพทย์อย่างครบถ้วน หากมีโรคประจำตัวหรือยาที่แพ้ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทันที
2. แจ้งยาที่รับประทานเป็นประจำเพื่อให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
3. พักผ่อนให้เต็มที่
4. เตรียมใจให้พร้อมที่จะถอนฟัน หากกลัวหรือเครียดมากควรบอกทันตแพทย์ก่อน
5. รับประทานอาหารแต่พอประมาณ ไม่ควรหิวมากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เป็นลมได้ง่ายในขณะถอนฟัน
6. ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไปเพราะอาจเกิดปัญหาหลังจากทำการถอนฟัน เช่น ทางเดินหายใจอุดตันจากการสำลักอาหารซึ่งเป็นปัญหาแทรกซ้อนได้
โดยส่วนใหญ่การถอนฟันนั้นจะมีผลข้างเคียงน้อย หรือไม่มีเลย แต่ว่าก็ยังมีคนไข้บางรายที่มีอาการข้างเคียงหลังจากเข้ารับการถอนฟัน เช่น
• แผลบวมแดง
• เลือดไหลไม่หยุด
• มีอาการปวด บวม บริเวณที่ถอนฟัน
• คลื่นไส้
• มีไข้
• หนาวสั่น
• ไอ
• หายใจไม่ออก
• เจ็บหน้าอก
หากมีอาการอื่นนอกจากแผลบวมแดงเหล่านี้หลังการถอนฟันเป็นเวลา 4 ชั่วโมงขึ้นไปควรไปพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยไว้เด็ดขาด
การถอนฟันเป็นเรื่องสำคัญที่มีรายละเอียดที่ควรรู้มากมาย ซึ่งบทความนี้ได้รวบรวมคำตอบของคำถามสำคัญไว้ต่อไปนี้
ระหว่างการถอนฟันจะไม่ค่อยมีความเจ็บเนื่องจากมีการฉีดยาชาตามขนาดที่เหมาะสม ซึ่งหลังจากถอนเสร็จแล้วความเจ็บปวดอาจจะมีบ้างแต่มักจะไม่เยอะ
การถอนฟันจะใช้เวลาเพียงไม่นาน สามารถทำเสร็จได้ในไม่กี่ชั่วโมง โดยที่หากเป็นการถอนฟันอย่างเป็นซี่ที่ไม่มีความยุ่งยากมากจะเสร็จได้โดยเร็ว
วันแรกอาจมีอาการเจ็บ ซึ่งอาการเจ็บจะหาย หรือทุเลาลงภายในเวลาสองถึงสามวัน และแผลจะหายสนิทในราวๆ ช่วงเวลาห้าถึงเจ็ดวัน ระหว่างที่เจ็บอยู่ก็สามารถใช้ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาได้
บางครั้งในการถอนฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใส่ฟันปลอมทดแทน เพราะฟันที่ถอนไปนั้นอาจจะมีหน้าที่สำคัญในการเคี้ยว เช่น ฟันกราม หรือเป็นฟันที่ช่วยในการพูดออกเสียง หรือเห็นได้ชัด เช่น ฟันหน้า การนำฟันเทียมมาทดแทนจึงสามารถช่วยให้ชีวิตประจำวันไม่เปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด และป้องกันปัญหาฟันล้มที่อาจตามมา
ทั้งนี้ฟันปลอมเองก็มีด้วยกันหลากหลายแบบ ทั้งแบบถอดได้ หรือแบบใส่ติดแน่นถาวร หากสนใจสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ ฟันปลอมมีกี่แบบ? จัดเต็มข้อมูลแนะนำ ฟันปลอมแบบไหนที่เหมาะกับเรา
ในกรณีที่ต้องถอนฟัน นอกจากศึกษาการทำฟันปลอมแล้ว เราแนะนำให้ศึกษาการทำรากฟันเทียมร่วมด้วย เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำหัตถกรรมรากฟันเทียมนี้จะแตกต่างกับการทำฟันปลอมตรงที่ใช้ทดแทนฟันที่สูญไป เหมือนได้ฟันธรรมชาติที่มีความแข็งแรงทนทานและติดแน่นกว่าเมื่อเทียบกับฟันปลอม ทั้งยังให้ความรู้สึกที่เหมือนกับฟันแท้ ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาที่สูงแต่ก็แลกมาด้วยความคุ้มค่าที่มากกว่า โดยสามารถพิจารณาตามความเหมาะสม หรือคำแนะนำเพิ่มเติมจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้
วิธีการดูแลตัวเองหลังถอนฟันนั้นอาจมีหลายขั้นตอนแต่โดยคร่าวๆ สามารถดูแลได้ด้วยการกินอาหารอ่อน ไม่ร้อนเกินไปและไม่กินเยอะเกินไป เลี่ยงการใช้ลิ้นดุนแผลหรือกระทบกับแผล และหมั่นบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเบาๆในแต่ละวัน
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า การถอนฟันควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษาฟัน ดังนั้น มาดูวิธีดูแลตัวเองก่อนสาย หากดูแลได้ดีตั้งแต่ต้น หรือเมื่อรู้ว่าเริ่มมีปัญหา แล้วหันกลับมาดูแลช่องปากให้ดีได้ ก็อาจรักษาฟันเอาไว้ได้ ไม่ต้องถอนฟันหรือสูญเสียฟันไป
การถอนฟันนั้นไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ทุกคนคิด แต่ถ้าหากรู้สึกว่ามีอาการปวดฟัน หรืออาการที่บ่งบอกว่าฟันมีความผิดปกติ ควรรีบพบทันตแพทย์ทันที เพราะว่าอาการเหล่านั้นอาจจะส่งสัญญาณถึงความเสียหายของฟัน เช่น ฟันผุ ถ้าหากเข้าพบทันตแพทย์ช้า หรือปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้ฟันเสียหายหนัก และสามารถแก้ไขได้ จนต้องทำการถอนฟันทิ้งไป ดังนั้น ทุกคนจึงควรรักษาสุขภาพช่องปาก และฟันให้สะอาด และแข็งแรงอยู่เสมอ