การจัดฟัน เป็นหนึ่งในการทันตกรรมที่รักษาความผิดปกติของรูปฟัน ตั้งแต่การเรียงตัวของฟัน การสบฟัน ไปจนถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความผิดรูปของขากรรไกรและใบหน้า ซึ่งจุดประสงค์หลักในการจัดฟัน คือ รักษาความผิดปกติของรูปฟัน ช่วยให้ฟันของเราเรียงตัวสวยงาม มีการสบฟันปกติ และช่วยให้เคี้ยวอาหารได้ดี ไม่มีปัญหาติดขัด แถมมีข้อดีที่สำคัญคือช่วยป้องกัน และลดปัญหาสุขภาพภายในช่องปากอีกด้วย
ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ในการจัดฟันจะเป็นการรักษาปัญหาเกี่ยวกับฟันและขากรรไกร หนุ่มๆ สาวๆ ที่จัดฟันบางเคสก็มีโครงหน้าเปลี่ยนไปหลังจัดฟัน จนทำให้หลายๆ คนเชื่อกันไปว่าจัดฟันแล้วจะหน้าเรียว ดั้งโด่ง เพิ่มขึ้นมาด้วย ทำให้วัยรุ่นหลายๆ คนอาจเข้าใจผิดและคาดหวังความสวยหรือความหล่อ เพิ่มเข้ามาในการจัดฟันไปซะอย่างนั้น
ในความเป็นจริงแล้ว การที่จะจัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยนนั้น เป็นแค่ผลที่ตามมาจากการจัดฟันเฉพาะในบางเคส อีกทั้งยังมีสาเหตุอื่นๆ แถมเข้ามา ทำให้มีรูปหน้าเราเปลี่ยนไปในช่วงไล่เลี่ยกับตอนจัดฟัน เช่น น้ำหนักตัวที่ลดลง ซึ่งปัจจัยพวกนี้ ไม่ได้เป็นผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับคนจัดฟันทุกเคสแต่อย่างใด
แต่ถ้ายังสงสัย ว่าแล้วทำไมถึงมีบางคนที่จัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน ก็จะขอชวนดู 4 เหตุผลที่จะมาตอบข้อสงสัยให้หายคาใจ และขอขีดเส้นใต้ย้ำตัวโตๆ อีกครั้งว่า “เกิดขึ้นเฉพาะในบางเคสจัดฟัน” เท่านั้น หากพร้อมแล้ว ไปดูกันเลย!
หน้าไม่ได้เปลี่ยนทุกเคส มาดู 4 เหตุผลตอบข้อข้องใจ สำหรับเคสที่จัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน
เคสที่มีการจัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน เช่น มีใบหน้าที่เรียวขึ้น หรือดั้งที่โด่งขึ้น เกิดจากขั้นตอนการจัดฟันที่ทำให้โครงสร้างของฟันเข้ารูปมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่บางคนจัดฟันแล้วหน้าเรียวขึ้นนั้นอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นฟันด้านหน้ายุบลง ฟังเรียงตัวเป็นระเบียบมากขึ้น ฟันล่างเข้าที่ หรือขากรรไกรเล็กลง ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดฟันของเคสที่หน้าเปลี่ยนนั้นๆ
ฟันหน้ายุบลง
การจัดฟันในเคสของหนุ่มๆ สาวๆ ที่รูปปากอูม หรือปากยื่น เพราะมีฟันหน้ายื่นออกมาจนผิดรูป หรือฟันเหยินนั้น ทำให้ฟันเรียงตัวเป็นระเบียบมากขึ้น ส่งผลให้บริเวณปากที่อูม หรือปากยื่นเข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้น
ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ
สำหรับเคสที่มีปัญหาการเรียงตัวของฟันเรียง เช่น ฟันห่าง ฟันซ้อน ฟันเก ฟันบิดโค้ง หรือ ฟันไม่สบกัน การจัดฟันก็จะช่วยรักษาให้การเรียงตัวของฟันนั้นเป็นระเบียบมากขึ้น
ฟันล่างเข้าที่
อีกหนึ่งเคสเฉพาะที่หน้าเปลี่ยนหลังจากจัดฟัน คือ เคสที่ฟันล่างเข้าที่ มีที่มาที่ไปมาจากเคสจัดฟันที่มีการสบฟันผิดปกติ คือ ฟันล่างครอบฟันบน สวนทางการสบฟันทั่วไปที่ฟันบนครอบฟันล่าง ส่งผลให้มี ภาวะคางยื่น (Prognathism) แถมยังส่งผลกับรูปหน้า คือมีคางยาวและยื่นออกมามากกว่าปกติ ในกรณีนี้ ทางทันตแพทย์จะทำการจัดฟัน เพื่อให้ฟันบนบานออกและดึงฟันล่างเข้าไปด้านใน ทำให้ฟันล่างและคางที่ยื่น เข้าที่มากขึ้น จึงส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงจากการจัดฟันนั่นเอง
ขากรรไกรเล็กลง
กรณีที่คนไข้มีปัญหาเรื่องขากรรไกรร่วมด้วย เช่น ฟันไม่สบกัน ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ถนัด หรือคางเบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่งนั้น อาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดฟันเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ทันตแพทย์จะทำการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร เพื่อให้ขากรรไกรที่เคยยื่นเล็กลง ทำให้การจัดฟันครั้งนั้นดูเหมือนเป็นการจัดฟันที่ทำให้หน้าเรียว เพราะมีการผ่าตัดขากรรไกรร่วมกับการจัดฟัน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
อุปกรณ์จัดฟันอะไรบ้างที่มีผลในเคสที่จัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน
อย่างที่รู้กันไปแล้วว่า การจัดฟัน เป็นวิธีทางทันตกรรมที่ช่วยแก้ไขปัญหาฟันซ้อน ฟันเก และปัญหาฟันไม่สบกัน และเคสที่จะจัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยนนั้น ไม่ใช่เคสที่พบได้ทั่วไป
สำหรับเคสที่จัดฟันแล้วทำให้โครงหน้าเปลี่ยนนั้น จะมีเรื่องของการถอนฟันร่วมด้วย อีกทั้งทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือทางทันตกรรมต่างๆ ที่ออกแรงกดที่ฟันอย่างต่อเนื่อง และเป็นเวลานาน จึงทำให้ฟันเกิดการขยับตัว และเคลื่อนที่จนค่อยๆ ปรับรูปร่างของกรามให้เข้าที่ ในขณะเดียวกันเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยดึงฟัน ก็จะค่อยๆ ปรับ และส่งผลต่อรูปหน้าด้วย
มาดูกันดีกว่า ว่าเครื่องมือที่ออกแรงกดฟันจนทำให้ฟันเกิดการขยับตัวนั้น มีอะไรบ้างนะ?
การยึดแบร็กเกต
แบร็กเกต (Bracket) เป็นเครื่องมือจัดฟันแบบโลหะ ที่จะยึดติดไว้ที่บริเวณผิวเคลือบฟัน ซึ่งแบร็กเกตนั้นจะมีช่องสำหรับใส่ลวด และขอบสำหรับเกี่ยวยางรัดฟัน นอกจากนี้แบร็กเกตบางตัวจะมีตะขอ หรือเสาสำหรับเกี่ยวยางรัดฟันโดยเฉพาะอีกด้วย
ยางรัดฟัน
ยางรัดฟัน เป็นวัสดุที่ทำมาจากยาง และมีให้เลือกใช้หลากหลายสี ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดฟัน เพื่อช่วยให้ฟันเรียงตัว และได้ตำแหน่งที่ต้องการ โดยยางจัดฟันนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ดังนี้
- O-Ring เป็นยางจัดฟันทรงกลม มีหน้าที่ในการยึดลวดไม่ให้หลุดออกจากแบร็กเกต
- C-Chain เป็นยางจัดฟันที่ยาวเป็นเส้นเดียวกันคล้ายเส้นด้าย ทำหน้าที่ในการดึงรัดฟันให้ชิดติดกัน เพื่อปิดร่องเล็กๆ ระหว่างฟัน
- Elastic เป็นยางดึงฟันมีลักษณะคล้าย O-Ring แต่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า ใช้สำหรับการดึงฟันให้เคลื่อนที่เข้ารูปได้เร็วขึ้น
Spacers
Spacer เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการแยกฟัน ซึ่งทำจากยาง หรือโลหะ โดยทันตแพทย์จะใส่อุปกรณ์แยกฟันไว้ระหว่างฟันแต่ละซี่ เพื่อดันฟันที่มีความแน่นชิดกันให้หลวม และดันฟันกรามไปด้านหน้า เพื่อให้พื้นที่ด้านหลังในช่องปากว่าง พร้อมที่จะใส่เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น แต่ว่าการใช้ Spacer หรือเครื่องมือสำหรับแยกฟันนั้นทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินในแต่ละบุคคลเอง
ลวดจัดฟัน
ลวดจัดฟัน เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การจัดฟันที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยลวดจัดฟันจะทำหน้าที่เชื่อมกับแบร็กเกตที่ติดอยู่กับผิวเคลือบฟัน และมียางรัดฟันที่เป็นตัวยึดไว้ไม่ให้หลุด ซึ่งลวดจัดฟันนั้นจะช่วยให้แบร็กเกตเคลื่อนที่ไปตามแนวทางที่ทันตแพทย์ได้วางแผนไว้ เพื่อให้ฟันที่ผิดรูปเรียงตัวได้อย่างสวยงาม
Buccal Tube
สำหรับ Buccal Tube เป็นเครื่องมือจัดฟันที่ติดอยู่ด้านในบริเวณฟันกราม ทำหน้าที่ในการยึดเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการจัดฟันต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทันตแพทย์ใช้สำหรับการปรับและคลายส่วนต่างๆ ของเหล็กจัดฟันตามแผนการรักษา
สปริง
สปริงจัดฟัน เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยดึงฟันให้ชิดกัน และใช้รวบฟันทั้งปาก เพื่อปรับโครงสร้างของขากรรไกร และใบหน้า โดยเฉพาะคนไข้ที่มีปัญหาฟันยื่น หรือฟันล่างครอบฟันบน ต้องใช้สปริงจัดฟัน เพื่อดึงฟันให้เข้ารูปมากยิ่งขึ้น
Headgear
Headgear หรือหมวกทันตกรรม เป็นอุปกรณ์จัดฟันภายนอก ใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันยื่นมากๆ ซึ่งอุปกรณ์ Headgear จะช่วยให้ฟันเกิดการเคลื่อนที่ และดันฟันให้ยุบเข้าไป ช่วยให้ฟันที่ยื่นนั้นเข้ารูปมากขึ้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่ประเภทที่ใช้ และพบได้บ่อยที่สุด คือ Facebow และ J-hook
ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อจัดฟัน
นอกจากการจัดฟันในบางเคสจะมีผลข้างเคียงอย่างหน้าเรียว หรือดั้งโด่ง แล้วนั้น การจัดฟันยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย เช่น ฟันโยก ปวดฟัน รากฟันละลาย และกระดูกเบ้าฟันละลาย เป็นต้น อ่านแล้วอย่าเพิ่งขนลุกกันไปก่อน ถึงชื่อจะดูน่ากลัว แต่ผลข้างเคียงนี้เป็นสิ่งที่พบเจอได้ทั่วไป หัวข้อนี้จะมาบอกผลข้างเคียงเพื่อเตรียมตัวให้พร้อม มีความรู้ติดตัวแบบไม่ตื่นตกใจเวลาเจอกับตัวแน่นอน
ฟันโยก
การจัดฟัน เป็นการใช้เครื่องมือทางทันตกรรม เพื่อให้ฟันเกิดการเคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ทำให้ฟันได้รับแรงจากเครื่องมือจัดฟัน จึงส่งผลให้เส้นเอ็นที่ยึดฟันกับกระดูกที่อยู่รอบๆ ฟันสลายตัวทำให้เกิดภาวะฟันโยก ซึ่งปัญหาฟันโยกนี้มักจะพบในผู้ที่นอนกัดฟัน หรือคนไข้ที่มีพฤติกรรมที่ชอบบดเคี้ยวฟัน แต่หลังจากที่หยุดใช้เครื่องมือจัดฟันแล้ว กระดูกเบ้าฟันและเอ็นยึดฟันก็จะทำการซ่อมแซมตัวเอง จนภาวะฟันโยกนั้นค่อยๆ ดีขึ้นจากเดิม
ปวดฟัน
อาการปวดฟัน เป็นอาการทั่วไปที่พบได้ในผู้ที่จัดฟัน ซึ่งจะมีอาการปวดมากๆ ในช่วง 2-4 วันแรก หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือปวดอยู่นาน ควรรีบพบทันตแพทย์ในทันที
รากฟันละลาย
ภาวะรากฟันละลาย ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดกับผู้ที่จัดฟัน โดยปกติจะละลายประมาณ 1-2 มิลลิเมตรนับจากบริเวณปลายรากฟัน ซึ่งเกิดจากเครื่องมือในการจัดฟันที่พยายามเคลื่อนฟันให้เข้ารูป ซึ่งรากฟันที่ละลายเพียงเล็กน้อยนั้นไม่ส่งผลต่อความแข็งแรงของฟัน แต่สำหรับคนไข้ที่รากฟันมีลักษณะแหลม โค้งงอ หรือได้รับการรักษาเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนไทรอยด์บกพร่อง อาจมีการละลายของรากฟันมากกว่าปกติได้
กระดูกเบ้าฟันละลาย
กระดูกเบ้าฟัน เป็นกระดูกที่คอยรองรับรากฟัน และยึดฟันเอาไว้ เมื่อเครื่องมือในการจัดฟันดึงฟันให้เข้ารูปก็จะทำให้ตำแหน่งของฟันเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลให้กระดูกเบ้าฟันเกิดการละลายบ้างเล็กน้อย ประมาณ 0.5 – 1 มิลลิเมตร แต่สำหรับผู้ที่เหงือกไม่แข็งแรง ก็มีโอกาสที่กระดูกเบ้าฟันจะละลายมากขึ้น ดังนั้น ทันตแพทย์จัดฟันจะใช้ปริมาณกระดูกเบ้าฟันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้กำหนดแผนการรักษาด้วย
สรุป
วัตถุประสงค์หลักในการจัดฟัน คือ ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก เช่น ฟันยื่น ฟันซ้อน หรือปัญหาฟันไม่สบกัน เพื่อให้ฟันเรียงตัวเป็นระเบียบ ช่วยให้บดเคี้ยวอาหารได้คล่องขึ้น แต่หนุ่มๆ สาวๆ เห็นคนรอบตัวจัดฟันเพื่อรักษาฟันแต่ดันหน้าเปลี่ยน หรือไปได้ยินข่าวลือมาว่าจัดฟันแล้วทำให้หน้าเปลี่ยน คงอดไม่ได้ที่จะสงสัยและเชื่อไปว่า “จัดฟันแล้วหน้าจะเปลี่ยนแบบคนอื่นไหมนะ?” ซึ่งความจริงแล้ว การจัดฟันแล้วหน้าเปลี่ยน อย่างหน้าเรียวหรือดั้งโด่งนั้น ไม่ใช่สิ่งที่พบได้ทั่วไปขึ้นกับทุกเคส เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ส่งผลกับการจัดฟัน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพช่องปาก อายุ และลักษณะฟันที่ผิดรูป ดังนั้น แม้ว่าการจัดฟันจะไม่ทำให้หน้าเปลี่ยน แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไปแน่นอนคือสุขภาพของเหงือกและฟันของเราที่ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น เลิกกังวลใจกับการบดเคี้ยวอาหาร หรือการเรียงตัวของฟันอย่างแน่นอน