ฟันผุ เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดจากเนื้อฟันถูกทำลาย จนทำให้ฟันเกิดเป็นรูหรือโพรงที่ตัวฟัน หากปล่อยทิ้งไว้ จากรูเล็กๆ ก็จะลุกลามจนอาจใหญ่ขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องอื่นๆ ตามมา เช่น เหงือกอักเสบ รากฟันเสื่อม และฟันล้ม วิธีแก้ปัญหาก็คือการอุดฟัน ซึ่งขั้นตอนการอุดฟันนั้นเป็นการใช้ “วัสดุอุดฟัน” หรือ “ที่อุดฟัน” เติมเข้าไปทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าที่อุดฟันหลุดได้ไหม คำตอบคือ หลุดได้ จากหลากหลายสาเหตุ โดย “วัสดุอุดฟันหลุด” หรือ “ที่อุดฟันหลุด” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าทิ้งไว้จะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปาก มาตอบคำถามและดูวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นกัน
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าปล่อยไว้
หากที่อุดฟันหลุด แล้วปล่อยทิ้งไว้ เศษวัสดุที่ติดค้างอยู่ตรงฟันก็อาจทำให้เสียวฟันหรือปวดฟัน หรือการที่วัสดุหลุดไปแล้ว บริเวณนั้นกลายเป็นรู ทำให้ชั้นของเนื้อฟัน หรือโพรงประสาทฟันสัมผัสอาหารหรืออากาศโดยตรง แบบนี้ก็ทำให้ปวดฟันหรือเสียวฟันได้เช่นกัน นอกจากอาการเสียวฟันแล้ว หากวัสดุอุดฟันหลุดไปแล้วส่วนที่เหลืออยู่มีความคม ก็อาจบาดลิ้นได้
บางคนอาจไม่มีอาการปวดฟันใดๆ เลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่อันตราย เพราะเมื่อวัสดุหลุดออกไปแล้ว ก็จะไม่มีอะไรมายับยั้งอาการผุ อาการจึงอาจลุกลามไปถึงเนื้อฟันส่วนที่ดี ยิ่งถ้ามีเศษอาหารเข้าไปติด ก็จะยิ่งทำให้เกิดฟันผุลึกลงไปอีก ในกรณีที่ฟันผุร้ายแรงอาจทำให้ฟันหลุดไปได้ในที่สุด
แนวทางปฏิบัติเมื่อที่อุดฟันหลุด
หากพบว่าวัสดุอุดฟันหลุด อย่านิ่งนอนใจ ควรสังเกตอาการและปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้
พบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด
เมื่อที่อุดฟันหลุด ให้รีบไปพบทันตแพทย์เพื่อกรอเอาวัสดุที่อาจติดค้างอยู่ออกให้หมด และทำการอุดฟันใหม่ หากไม่สามารถไปพบทันตแพทย์ได้ทันทีจริงๆ ก็ไม่ควรปล่อยไว้เกิน 3 วัน ยิ่งหากมีอาการปวดยิ่งควรพบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
บรรเทาอาการระหว่างรออุดฟันใหม่
ในระหว่างที่ยังไม่ได้ไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่ ควรปฏิบัติตัวเพื่อดูแลความสะอาดของช่องปาก ป้องกันวัสดุแตกหักเพิ่ม รวมทั้งบรรเทาอาการปวดที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้
- ใช้ไหมขัดฟัน กำจัดเอาเศษอาหารที่เข้าไปติดฟันออก
- งดอาหารที่แข็ง เหนียว กรอบ เพราะการเคี้ยวอาหารแข็ง ยิ่งทำให้ปวดฟัน
- งดอาหารหวานจัด เย็นจัด ร้อนจัด เพื่อเลี่ยงอาการเสียวฟันที่อาจเกิดขึ้นได้
- ระมัดระวังการเคี้ยวอาหาร เพื่อป้องกันวัสดุอุดฟันแตกหักเพิ่ม
- หากมีอาการปวดฟัน เสียวฟัน สามารถกินยาแก้ปวดบรรเทาอาการ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ ไพรอกซิแคม (piroxicam) แต่มีข้อควรระวัง คือต้องตรวจสอบก่อนว่าไม่ได้แพ้ยาเหล่านี้
- สามารถประคบเย็นภายนอกบริเวณที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดฟันได้
- แปรงฟันอย่างถูกวิธี ให้สะอาด และบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
หากที่อุดฟันหลุดลงคอ ทำอย่างไรต่อ
กรณีได้รับการอุดฟันกับทันตแพทย์และคลินิกที่ได้มาตรฐาน การเผลอกลืนที่อุดฟันลงไปโดยที่ไม่ได้ติดคอก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะวัสดุอุดฟันไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อที่อุดฟันหลุดแล้วก็ไปพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่ได้ตามปกติ
แต่หากรับการอุดฟันกับคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะวัสดุที่ใช้อาจไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมีต่างๆ ซึ่งจริงๆ เพียงแค่มีวัสดุอยู่ในช่องปากก็อันตรายแล้ว โดยจะเกิดการสะสมสารเคมีนั่นเอง ยิ่งเมื่อหลุดลงคอก็จะยิ่งอันตรายมากขึ้นไปอีก ควรไปอุดฟันใหม่กับคลินิกที่ได้มาตรฐาน และแนะนำให้ไปตรวจร่างกาย
สาเหตุที่ทำให้ที่อุดฟันหลุด
ที่อุดฟันเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีความแข็งแรงประมาณหนึ่ง แต่หากมีการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง เช่น ขบกัดอย่างรุนแรง หรือดูแลรักษาไม่ดีก็จะทำให้คุณภาพเสื่อมได้ ไปดูกันว่าสาเหตุทั่วไปของที่อุดฟันหลุดอะไรบ้าง
เคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวเกินไป
ที่อุดฟันไม่สามารถทนต่อแรงขบเคี้ยวที่รุนแรงได้ เมื่อออกแรงเคี้ยวอาหารที่แข็งมากหรือเหนียวมาก จึงกระทบกับวัสดุที่อุดไว้ จนทำให้ที่อุดฟันหลุดหรือแตกออกมาได้ง่าย
ทำความสะอาดช่องปากและฟันไม่สะอาด
ถ้าละเลยการทำความสะอาดช่องปากและฟัน ไม่ดูแลให้ถูกวิธี วัสดุอุดฟันก็จะมีโอกาสเสื่อมเร็วกว่าปกติ และทำให้หลุดออกมา ทางทีดีควรแปรงฟันอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน โดยใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ และเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3-4 เดือน การใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยก็ช่วยเรื่องความสะอาดได้เช่นกัน
วัสดุอุดฟันเสื่อมสภาพ
สำหรับผู้ที่อุดฟันมานานแล้ว สาเหตุที่วัสดุอุดฟันหลุดอาจเพราะวัสดุเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ซึ่งโดยปกติวัสดุอุดฟันจะอยู่ได้นาน 10 – 15 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
ไปอุดฟันมาใหม่แล้ว ดูแลตัวเองอย่างไรดี?
เมื่อไปทำการอุดฟันใหม่ทดแทนที่อุดฟันที่หลุดไปแล้วควรดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีเพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุหลุดอีก โดยวิธีปฏิบัติตัวก็เหมือนกับข้อปฏิบัติหลังอุดฟันปกติ นั่นคือ ระมัดระวังการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวของแข็ง ที่สำคัญหมั่นทำความสะอาดฟัน เหงือก และช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
ถาม-ตอบ ปัญหาเกี่ยวกับที่อุดฟันหลุด
มาถึงช่วงตอบคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่อุดฟันหลุด ใครที่ยังมีคำถามในใจ ไปดูคำตอบกัน
ที่อุดฟันหลุดแล้วปวดฟันมาก เป็นรู ถอนฟันได้ไหม
อาการปวดฟันมากเป็นสัญญาณเตือนว่าอาการฟันผุได้ลุกลามมากขึ้นหลังจากวัสดุอุดฟันหลุด สมควรถอนฟันหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์ หากฟันซี่ที่ผุลุกลามไปจนเกิดเป็นอาการฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันก็ควรถอนฟันเพื่อรักษา แต่หากอาการฟันผุยังไม่ได้ลุกลามไปถึงขั้นนั้น ยังมีส่วนเนื้อฟันที่เหลือพอ ก็สามารถแก้ไขด้วยวิธีอื่นได้ เช่น อุดฟันใหม่ หรือครอบฟันได้
ดังนั้น ตอบสั้นๆ คือ ที่อุดฟันหลุดแล้วปวดฟัน สามารถถอนฟันได้ ถ้าทันตแพทย์วินิจฉัยว่าควรถอนเพื่อรักษา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถอนเสมอไป เพราะอาจรักษาด้วยวิธีอื่นได้
ที่อุดฟันมีอายุการใช้งานเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ถึงหลุด
อายุการใช้งานของที่อุดฟันขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุที่อุดฟัน พฤติกรรมการกินและการดูแลรักษา ซึ่งหากมีการดูแลรักษาอย่างดีก็สามารถอยู่ได้นานสูงสุดถึง 10 – 15 ปี อย่างไรก็ตาม ควรนัดตรวจสุขภาพช่องปากและฟันกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือน และหากทันตแพทย์เห็นสมควรว่าที่อุดฟันใกล้หมดอายุการใช้งานก็จะแนะนำวิธีการแก้ไขรักษาได้ทันท่วงที
สรุป
การอุดฟันเป็นการใช้วัสดุสังเคราะห์เติมทดแทนเนื้อฟันที่ถูกทำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อฟันเสียหายไปมากกว่าเดิม ซึ่งวัสดุอุดฟันนั้นสามารถหลุดหรือแตกออกมาได้ หากมีการใช้งานไม่เหมาะสมหรือทำความสะอาดสุขภาพช่องปากและฟันได้ไม่เพียงพอ เมื่อที่อุดฟันหลุดก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดฟัน เสียวฟัน เคี้ยวรับประทานอาหารได้ลำบาก และจะทำให้ฟันผุลุกลามจนอาจอันตรายถึงฟันหลุดได้ในอนาคต แนะนำให้รีบเข้าพบและปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการอุดฟันใหม่จะดีที่สุด