หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าช่องปากเป็นอวัยวะที่ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการกิน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังมีปัญหาเรื่องช่องปากและฟันอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เป็นฟันคุด เพราะเข้าใจว่าเพียงแค่แปรงฟันให้ถูกวิธีและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ก็สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาช่องปากได้ จนเมื่ออาการฟันคุดเริ่มสร้างความเจ็บปวด ไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติและอาจมีปัญหาลึกถึงรากฟัน อาการฟันคุดจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง
โดยบทความนี้ จะพาทุกคนไปรู้จักกับฟันคุดคืออะไร และตอบข้อสงสัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟันคุดเกิดจากอะไร ฟันคุดมีกี่แบบ ต้องถอนหรือผ่าไหม หรือปล่อยทิ้งไว้ได้หรือไม่
ฟันคุดคืออะไร ทำไมถึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
ฟันคุด (Wisdom Tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถเติบโตได้ตามปกติ โดยอาจมีเหงือกปิดคลุมฟันหนาเกินไป หรือมีแนวกระดูกอื่นมาขวางการงอกของฟัน อาจเป็นฟันที่มีรูปร่างผิดปกติ หรือมีการเติบโตที่เอียงผิดปกติจนงอกขึ้นชนกับฟันซี่อื่น เป็นต้น โดยฟันคุดมักเกิดกับฟันกรามที่อยู่ด้านในสุดของช่องปากจำนวน 4 ซี่
หากมีฟันคุดแล้วมักมีอาการปวดจนเกิดความรำคาญใจในการดำรงชีวิต เคี้ยวอาหารลำบาก หรือเมื่อปล่อยไว้นานเข้าอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากอื่นๆ ตามมา ทั้งเรื่องกลิ่นปาก การเรียงตัวของฟันซี่อื่นๆ มีปัญหา อาการเหงือกอักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ หากปล่อยทิ้งไว้นานไปอาจทำให้เกิดถุงน้ำ หรือเนื้องอกขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการเคลื่อนที่ผิดตำแหน่ง และกระดูกรอบรากฟันกับรากฟันได้รับความเสียหายได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการฟันคุดจึงควรรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยเอาไว้
สาเหตุฟันคุดเกิดจากอะไรบ้าง
ฟันคุดมีสาเหตุมาจากการที่ฟันไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น
- ฟันติดอยู่ภายใต้เหงือกหรือใต้แนวกระดูก: โดยทั่วไปแล้วฟันจะขึ้นมาโดยผ่านเหงือก แต่เมื่อเหงือกมีความหนาเกินไป หรือมีส่วนกระดูกขวางทางการงอกของฟันอยู่ ฟันจะไม่สามารถขึ้นมาได้ในแนวที่ควรเป็นและทำให้ฟันติดอยู่ภายในเหงือก หรือใต้แนวกระดูกนั้นจนกลายเป็นปัญหาฟันคุด
- แนวการงอกหรือรูปร่างของฟันเอียง: บางครั้งสาเหตุของฟันคุดอาจเกิดมาจากการที่ฟันสามารถขึ้นผ่านเหงือกได้แบบฟันซี่ปกติ แต่มีแนวการงอกหรือรูปร่างของฟันที่เอียงจนชนเข้ากับฟันซี่อื่น
- ช่องปากมีพื้นที่ไม่เพียงพอ: บางครั้งอาจเกิดได้จากพื้นที่ในช่องปากมีไม่พอสำหรับฟันที่ขึ้นใหม่ ทำให้ฟันเกิดการเบียดกันมากเกินไปจนเกิดเป็นฟันคุดขึ้นได้
โดยฟันคุดสามารถมีได้ตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนจากฟันน้ำนมเป็นฟันแท้ในช่วงวัยเด็ก หรือเกิดเมื่อฟันขึ้นใหม่ของผู้ใหญ่
ลักษณะอาการฟันคุด
หากใครที่กำลังสงสัยว่าตนเองมีฟันคุดหรือไม่ สามารถสังเกตอาการที่บ่งบอกถึงการเกิดฟันคุดได้ ดังนี้
- มีอาการปวดฟันแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นฟันซี่ไหน
- เหงือกบวมแดง เกิดแผลหรือเป็นหนอง
- การเรียงตัวของฟันผิดปกติ เห็นฟันขึ้นซ้อนกันหรือเบียดกัน ฟันใกล้เคียงมีอาการโยกหรือหัก เห็นฟันเกหรือฟันยื่นออกมาจากแนวฟันเดิม
- ผู้มีอาการฟันคุดบางคนสามารถมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย เนื่องจากฟันคุดกระทบเส้นประสาท อาจมีอาการขยับปากลำบากหรืออ้าปากแล้วเกิดความเจ็บปวดที่บริเวณขากรรไกร
แม้ลักษณะอาการที่ได้กล่าวไปในข้างต้นจะทำให้รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นฟันคุดหรือไม่ แต่ในบางครั้ง ฟันบางซี่ก็ไม่สามารถสังเกตหรือรับรู้ด้วยตัวเองได้ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการเอกซเรย์เพื่อความมั่นใจอีกครั้งหนึ่ง
ชนิดของฟันคุด
ฟันคุดสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแบบตามลักษณะของฟันคุดที่เกิดขึ้นภายในช่องปากของผู้ป่วยแต่ละคน มีทั้งฟันคุดที่งอกออกจากเหงือกมาได้บางส่วน หรือฟันคุดที่ยังคงฝังตัวอยู่ภายในเหงือก ดังนี้
- ฟันคุดชนิดล้มไปข้างหน้า: ฟันคุดชนิดนี้เมื่อเกิดขึ้นจะเอนไปด้านหน้าจนชนหรือเบียดฟันซี่หน้า อาจเกิดขึ้นโดยงอกพ้นเหงือก หรือยังถูกเหงือกปกคลุมอยู่ก็ได้
- ฟันคุดชนิดวางตัวในแนวราบ: ฟันคุดชนิดนี้จะเป็นแนวนอน มักฝังตัวอยู่ในเหงือก หรือใต้แนวกระดูกทั้งหมด โดยไม่มีส่วนใดงอกออกมานอกเหงือก
- ฟันคุดชนิดตั้งตรง: ฟันคุดชนิดนี้สามารถขึ้นมาได้บางส่วน โดยมีลักษณะตั้งตรงเหมือนฟันซี่ปกติ
- ฟันคุดชนิดล้มไปด้านหลัง: ฟันคุดชนิดนี้จะเอนไปทางด้านหลัง โดยอาจพ้นเหงือกมาบางส่วนหรือยังฝังตัวอยู่ในเหงือกหรือใต้แนวกระดูกก็ได้
ปล่อยฟันคุดทิ้งไว้ได้ไหม? อันตรายหรือไม่ มาดูคำตอบ
เมื่อตรวจพบว่าตนเองมีฟันคุด หากรีบรักษาเร็วก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยฟันคุดไม่ทรมานกับอาการเจ็บปวดที่น่ารำคาญใจ สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ อีกทั้งยังช่วยรักษาสุขภาพช่องปากให้เป็นปกติอีกด้วย ถ้าหากตรวจพบอาการฟันคุดแล้ว แต่ปล่อยเอาไว้โดยไม่รักษา อาจเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ดังนี้
- เกิดอาการปวดฟันหรือเหงือกเรื้อรัง อันเนื่องมาจากฟันคุดจะงอกชนฟันซี่อื่นๆ หรือฝังตัวอยู่ภายในเหงือกและใต้แนวกระดูกจนเกิดอาการปวด
- เกิดอาการปวดศีรษะ เนื่องจากฟันคุดเบียดตัวจนชนเส้นประสาท
- มีกลิ่นปาก เนื่องจากฟันคุดอยู่ภายในบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก การปล่อยฟันคุดเอาไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดการสะสมของเศษอาหารจนกลายเป็นของเสียส่งผลให้เกิดกลิ่นปากได้
- ฟันผุ เนื่องจากการสะสมของเศษอาหารหรือของเสีย เมื่อเกิดฟันคุดจนทำให้ฟันผุ
- เหงือกในบริเวณฟันคุดอักเสบและติดเชื้อ เมื่อเกิดการดันของฟันคุดภายในเหงือก จะทำให้เหงือกเกิดการอักเสบ หากปล่อยเอาไว้อาจทำให้มีการติดเชื้อที่เหงือกตามมาได้
- เกิดซีสต์เนื้องอกรอบๆ บริเวณที่เกิดฟันคุด เมื่อปล่อยฟันคุดเอาไว้อาจทำให้เกิดถุงน้ำบริเวณขากรรไกรจนกลายเป็นซีสต์เนื้องอก หรือถุงน้ำเกิดการเติบโตจนดันบริเวณขากรรไกรและส่งผลให้ขากรรไกรผิดรูป รวมถึง รูปหน้าผิดรูป หรือทำให้ขากรรไกรบอบบาง มีอาการปวดบริเวณขากรรไกรหรือขากรรไกรอาจเกิดการแตกหักได้ง่ายเมื่อโดนกระทบ
- ส่งผลต่อการเรียงตัวของฟัน เมื่อฟันคุดดันฟันซี่อื่นๆ ทำให้ฟันรอบข้างเป็นฟันยื่นหรือฟันเก มีการจัดระเบียบการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ หรือดันให้ฟันซ้อนกันได้
- ส่งผลกระทบต่อรากฟัน เมื่อปล่อยฟันคุดไว้นานๆ จะทำให้เกิดแรงดันจากฟันคุดไปทำลายกระดูกรอบๆ รากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงจนเกิดความเสียหายได้
- เกิดความผิดปกติบริเวณเยื่อหุ้มฟัน ฟันคุดอาจก่อให้เกิดเยื่อหุ้มฟันอักเสบ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงของฟัน หรือทำให้ฟันโยก เนื่องจากรากฟันละลายได้
ฟันคุด ถอนหรือผ่า? มารู้จักวิธีจัดการกับฟันคุดก่อนสายไป
หากสงสัยว่าตนเองมีอาการฟันคุดหรือไม่ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้โดยดูว่ามีอาการ เช่น เกิดเหงือกบวมแดงหรือมีเลือดออกที่เหงือก ในปากมีรสชาติแปลกๆ เกิดกลิ่นปากผิดปกติ รู้สึกปวดฟันด้านใน หรือมีความยากลำบากเมื่อต้องอ้าปากหรือเคี้ยวอาหาร
เมื่อมีอาการเหล่านี้ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อขอรับการตรวจวินิจฉัยหรือเอกซเรย์ฟันให้แน่ใจ ซึ่งฟันคุดนั้นสามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
ทานยาบรรเทาอาการฟันคุด
การใช้ยาบรรเทาอาการปวดฟันคุดมีหลายระดับ โดยการกินยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยก่อนการรักษาจริง คือ
- การช่วยบรรเทาอาการปวดที่ไม่รุนแรง ในระดับแรกที่อาการปวดไม่รุนแรง สามารถเริ่มใช้จากพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมได้ แต่หากว่าไม่ได้ผลหรือช่วยบรรเทาได้เพียงเล็กน้อย อาจหมายความอาการปวดอยู่ในระดับที่รุนแรงมากขึ้น
- อาการปวดระดับปานกลาง สามารถหยุดยาพาราเซตามอลแล้วใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น แต่ข้อควรระวังคือควรกินหลังอาหารทันที และไม่ควรกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะสามารถส่งผลให้เกิดแผลเป็นในกระเพาะอาหารได้
- ในกรณีที่มีอาการติดเชื้อหรือเป็นหนอง ทันตแพทย์สามารถจ่ายยาอะม็อกซีซิลลิน 500 มิลลิกรัมให้ ซึ่งไม่ควรซื้อกินเองหากไม่ได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ ยาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เมื่อมีอาการเหงือกบวมหรือปวดฟันจากแบคทีเรียชนิดไม่ต้องการออกซิเจน ทันตแพทย์สามารถจ่ายยาเมโทรนิดาโซล 200-250 มิลลิกรัมด้วย
ถอนฟันคุด
การถอนฟันคุดเป็นวิธีรักษา ในกรณีที่ตัวฟันงอกพ้นเหงือกมาได้ แต่อาจเกิดความผิดปกติจนกลายเป็นฟันคุด ทันตแพทย์จะสามารถถอนฟันซี่นั้นออกได้แบบเดียวกับที่ถอนฟันซี่อื่นๆ
ผ่าฟันคุด
การผ่าฟันคุด เป็นวิธีรักษาที่จะใช้กับฟันคุดประเภทที่ฝังตัวอยู่ในเหงือกจนไม่สามารถงอกพ้นเหงือกออกมาได้ เพราะมีเหงือกมาคลุมปิดหนาเกินไป หรืออาจมีแนวกระดูกที่ขวางทาง ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยการถอนฟันคุดได้ จึงจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเอาฟันคุดที่ฝังตัวบริเวณดังกล่าวออกมาแทน
ดังนั้น คำถามที่ว่าฟันคุดต้องถอนหรือผ่า? จะขึ้นอยู่กับว่า ฟันคุดที่พบมีลักษณะอย่างไร โดยการถอนฟันคุดจะใช้รักษาภาวะฟันคุดที่มีส่วนงอกออกมาพ้นเหงือก ส่วนการผ่าฟันคุดนั้นเป็นการรักษาโดยผ่าตัดนำฟันคุดที่ฝังตัวอยู่ภายใต้เหงือก ซึ่งไม่สามารถรักษาด้วยการถอนได้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เมื่อรับการรักษาฟันคุดแล้ว ควรดูแลหลังการผ่าฟันคุดอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำของทันตแพทย์ โดยผู้ที่เข้ารับการรักษายังสามารถเบิกสิทธิประกันสังคมได้อีกด้วย
ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถเติบโตได้ตามปกติ ซึ่งเกิดบริเวณฟันกรามทั้ง 4 ซี่ ถือเป็นปัญหาช่องปากที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะสร้างความเจ็บปวด หรือสร้างผลกระทบอื่นๆ ในช่องปาก ตั้งแต่การสะสมของของเสียในช่องปากจนเกิดกลิ่นปากไปจนถึงผลกระทบต่อเหงือก ฟันและรากฟัน หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจมีผลเรื้อรังไปจนถึงบริเวณขากรรไกร ทำให้รูปหน้าผิดรูปและทำให้ขากรรไกรเปราะบางได้ ดังนั้น หากมีอาการที่บ่งบอกถึงการเกิดฟันคุด ควรเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหรือเอกซเรย์อย่างทันท่วงที และหากตรวจพบว่าฟันคุดขึ้นตอนไหนควรที่จะเข้ารับการรักษาอาการฟันคุดจากทันตแพทย์ต่อไป