การรักษาทางทันตกรรมนั้นจะต้องใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือหลายอย่าง โดยแต่ละอย่างนั้นมีวัตถุประสงค์ในการใช้ที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น เพลทจัดฟัน คือ หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในทางทันตกรรมอย่างการจัดฟัน ซึ่งเพลทจัดฟันนั้นเป็นเครื่องมือสำหรับจัดฟันที่สามารถถอดเข้า-ออกได้ และใส่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกราม และเพดานปาก หรือแก้ไขตำแหน่งฟัน และปัญหาฟันต่างๆ เช่น ฟันสบ ฟันซ้อนเก รวมถึงขยายขากรรไกรบน-ล่าง โดยเพลทจัดฟันนั้นนิยมทำมาจากพลาสติก สร้างขึ้นโดยการพิมพ์แบบจำลองฟันในช่องปาก และยึดเกี่ยวกับฟันด้วยตะขอที่ถูกออกแบบมาเพื่อยกการสบฟันให้สูงขึ้น และช่วยให้ฟันเคลื่อนที่เข้าตำแหน่งตามที่ทันตแพทย์กำหนด นอกจากนั้นยังมีสกรู และสปริง เป็นส่วนประกอบเสริมสำหรับปรับฟันให้เข้ารูปด้วย ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเพลทจัดฟันกันให้มากขึ้น
ช่วงเวลาที่ใส่เพลทจัดฟัน
การใส่เพลทจัดฟัน ต้องใส่เป็นระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือน และเป็นการวางแผนการรักษาก่อนทำการติดเครื่องมือจัดฟันในช่องปาก เพื่อขยายฟันบน หรือฟันล่างให้มีระยะความกว้างเท่ากันก่อน สามารถช่วยลดการซ้อนเกของฟันได้ และเมื่อติดเครื่องมือจัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะส่งผลให้ผลการรักษามีอาการดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ปัญหาการเรียงตัวของฟันแบบไหน ที่ควรใช้เพลทจัดฟัน
การใส่เพลทจัดฟันนั้นใส่เพื่อช่วยรักษาปัญหาสุขภาพช่องปาก ในกรณีฟันบน หรือฟันล่างเบียดแคบเข้ามาหากัน จนเกิดภาวะการสบฟันที่ผิดปกติ และมีการซ้อนเกเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากที่สามารถใส่เพลทเพื่อรักษาอาการได้ มีดังนี้
ฟันสบลึก
ฟันสบลึก เป็นลักษณะที่ฟันบนด้านหน้าสบคร่อมลงมาปิดฟันล่างมากกว่าปกติ ถ้าหากไม่ทำการรักษาจะส่งผลให้ขากรรไกรล่างเจริญเติบโตได้น้อยกว่าเท่าที่ควร และเพดานเหงือกของฟันหน้าบนอาจเกิดอาการบาดเจ็บได้ เพราะโดนฟันหน้าล่างสบกระแทก ปัญหาฟันสบลึกสามารถรักษาได้ด้วยการใส่เพลทที่ติดสปริง หรือสกรู เพื่อยกฟันบนไม่ให้สบโดนฟันล่าง และดันฟันล่างที่โดนสบคร่อมออกมา ทั้งนี้ลักษณะฟันสบลึกอาจถูกเข้าใจผิดได้บ่อยว่าเป็นฟันเหยิน แต่ความจริงนั้นฟันเหยินก็มีการจัดฟันเหยิน ที่เป็นวิธีรักษาแก้ไขเฉพาะเช่นกัน
ฟันสบคร่อม
ฟันสบคร่อม เป็นลักษณะฟันล่างสบคร่อมฟันบน พบได้ทั้งฟันหน้า และฟันหลัง ถ้าไม่รับการรักษาจะทำให้ขากรรไกรบนถูกจำกัดการเจริญเติบโต และอาจเกิดความผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกรได้ ซึ่งการใส่เพลทจัดฟันช่วยรักษาปัญหาฟันสบคร่อมได้ ด้วยการขยายเพลทให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ฟันบนที่ถูกคร่อมก็จะค่อยๆ ถูกดันขยายออกมาให้กว้างเท่ากับฟันล่างก่อนทำการติดเครื่องมือจัดฟัน
ขากรรไกรบนแคบ
การใส่เพลทจัดฟันจะทำให้ขยายขากรรไกรบนออก ช่วยให้โพรงจมูกขยายตัวมากขึ้น และสามารถหายใจได้สะดวก มักพบในคนไข้ที่นอนหายใจทางปาก หรือผู้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
ขยายขากรรไกรล่าง
การใส่เพลทจัดฟันเพื่อขยายขากรรไกรล่าง ใช้ในกรณีขากรรไกรล่างเอียงเบนไปจากแนวฟัน ทำให้คางเบี้ยว เนื่องจากตำแหน่งฟันที่ผิดปกติ จึงต้องขยายให้รอยต่อของกระดูกรอบขากรรไกรแยกจากกัน ก่อนที่จะดึงขากรรไกรให้กลับมาตำแหน่งเดิมด้วยเครื่องมือจัดฟัน
เพลทจัดฟันมีกี่แบบให้เลือกใส่
เพลทเป็นเครื่องมือจัดฟันที่สามารถถอดออกได้ และมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ Passive plate และ
Active plate แต่การเลือกใส่ประเภทเพลทจัดฟันขึ้นอยู่กับทันตแพทย์ว่าจะใช้เทคนิค และวางแผนการรักษาอย่างไร โดยรายละเอียดของแต่ละแบบ มีดังนี้
Passive plate
Passive plate คือ เพลทจัดฟันที่ไม่มีแรงกระทำต่อฟัน ใช้สำหรับเพียงยกฟันให้ลอยสูงขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการสบกระแทกกันของฟันบน และฟันล่าง
Active plate
Active plate คือ เพลทจัดฟันที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อฟัน โดยมีส่วนประกอบเสริมอย่างสปริง หรือสกรู ซึ่งจะช่วยดึง หรือผลักฟันให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ
การใส่เพลทจัดฟันในชีวิตประจำวัน ควรใส่ตอนไหน เมื่อไหร่ที่ถอดได้
เพลทจัดฟัน เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนรีเทนเนอร์แบบสามารถถอดเข้า-ออกได้ โดยส่วนใหญ่จะต้องใส่เพลททุกวัน และตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนนอน ตอนออกไปทำงาน ไปเรียน รวมถึงตอนที่รับประทานอาหารด้วย ยกเว้นตอนแปรงฟันทำความสะอาดช่องปาก โดยการที่ใส่เพลทเป็นประจำนั้นเพื่อให้ร่างกายเกิดความเคยชินกับตำแหน่งใหม่ของฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินพิจารณาว่าเพลทจัดฟันสามารถถอดได้ตอนไหน และก่อนจัดฟันต้องใส่เพลทกี่เดือน ทั้งนี้ในช่วงแรกของการใส่แพลทอาจจะเกิดความไม่คุ้นชิน แต่ต้องสวมใส่ตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในช่วงหลังถอดเพลทออก และเข้าสู่ขั้นตอนการจัดฟัน นอกจากนี้บางคนอาจต้องใส่เพลทจัดฟันร่วมกับการจัดฟันแบบอื่นด้วย เพื่อรักษา และแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก
กลุ่มคนไข้ที่เหมาะใส่เพลทจัดฟัน
เพลทจัดฟัน เป็นอุปกรณ์แก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก เหมาะสำหรับเด็ก หรือวัยรุ่นที่กรามยังสามารถพัฒนาเติบโตได้อยู่ ดังนั้น กลุ่มคนไข้ที่อายุต่ำกว่า 19 ปี จึงเป็นช่วงวัยที่ใช้เพลทได้ดี และเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากกระดูก และฟันยังมีความยืดหยุ่น ทำให้การรักษาด้วยเพลทที่เป็นการขยายฟัน และการขยายกระดูกร่วมด้วย จึงทำให้เห็นผลลัพธ์ได้ดี ส่วนคนไข้ที่มีอายุมากกว่า 19 ปี ก็สามารถใช้เพลทขยายฟันได้เช่นกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะมีเพียงแค่การขยายฟันเท่านั้น ไม่สามารถขยายกระดูกได้ เนื่องจากกระดูกไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการขยายฟันก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นเดียวกันกับกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 19 ปี
ข้อดี-ข้อสังเกตของการใส่เพลทจัดฟัน
ข้อดี
- เพลทจัดฟันสามารถถอดได้
- ดูแลทำความสะอาดได้สะดวก
- ราคาคุ้มค่า
- ส่งผลให้การรักษาในอนาคตง่ายขึ้น
- แก้ไขความผิดปกติของโครงสร้างขากรรไกรเบื้องต้น
- รูปหน้า และการสบฟัน มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
- ลดความเสี่ยงที่ต้องผ่าตัดขากรรไกรในอนาคต
ข้อสังเกต
- ควรทำตั้งแต่อายุยังน้อย
- หากฟันมีปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการรักษา
- รู้สึกระคายเคือง หรือไม่สบายปาก
- เนื่องจากเป็นเครื่องมือแบบถอดได้ อาจลืมใส่กลับ ทำหายได้ โดยเฉพาะเด็กๆ
วิธีดูแลทำความสะอาดเพลทจัดฟัน
เนื่องจากเพลทจัดฟัน เป็นอุปกรณ์ที่ต้องอยู่ภายในช่องปากตลอดเกือบ 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงควรดูแล และทำความสะอาดแพลทจัดฟันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การใช้เพลทจัดฟันได้ผลที่ดี และป้องกันสิ่งสกปรก และแบคทีเรีย รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่อาจสะสมในช่องปากได้ ซึ่งวิธีทำความสะอาดเพลทจัดฟัน ดังนี้
- ทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
- ในกรณีที่วัสดุเพลทจัดฟันคล้ายกับรีเทนเนอร์ ควรทำความสะอาดด้วย
น้ำสบู่ และใช้แปรงขัดเบาๆ หลังจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำเปล่าเพื่อขจัดเศษอาหารหรือสิ่งสกปรก - ใช้เม็ดฟู่เพื่อฆ่าเชื้อโรค
- เมื่อถอดออกควรเก็บไว้ในกล่องทันที เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก
- ทำความสะอาดเพลทด้วยการจับเพลทด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ไม่ควรวางเพลทในอุ้งมือแล้วใช้แปรงถูทำความสะอาด เพราะอาจใช้แรงมือบีบจนทำให้เพลทแตกหักได้
เพลทจัดฟัน เป็นเครื่องมือสำหรับจัดฟันที่สามารถถอดออกได้ ส่วนใหญ่มักใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี ที่กราม และกระดูกยังไม่หยุดการพัฒนาเติบโต ซึ่งเพลทจัดฟันใส่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกราม และเพดานปาก รวมทั้งปัญหาฟันในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟันสบลึก ฟันสบคร่อม ขยายขากรรไกรบน และขยายขากรรไกรล่าง เป็นต้น ส่วนปัญหาช่องปากลักษณะอื่นๆ ก็มีวิธีแก้ไขแตกต่างกันไป โดยก่อนเข้ารับรักษาควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดว่าลักษณะฟันแบบไหนควรจัดฟัน และควรเลือกวิธีการจัดฟันให้เหมาะสมกับลักษณะฟันของตนเอง