ปัญหาสุขภาพในช่องปากที่เกิดขึ้นบ่อย พบได้ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน คือ อาการฟันผุ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยจึงไม่รีบทำการรักษา แต่ความจริงนั้นอาการฟันผุมีความร้ายแรงกว่าที่คิด และควรรีบรักษาฟันผุตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการฟันผุลุกลามมากขึ้นจนอาจต้องสูญเสียฟันแท้ไป และอาจต้องถอนฟันในภายหลัง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสถานการณ์ที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น ในบทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จักว่าฟันผุคืออะไร และสาเหตุของฟันผุคืออะไร รวมถึงวิธีการป้องกันฟันผุที่ถูกต้อง โดยจะมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!
ฟันผุคืออะไร?
ฟันผุ คือ สภาพของฟันที่ถูกทำลายไปตั้งแต่ผิวเคลือบฟันภายนอกลึกเข้าไปภายในเนื้อฟันจนถึงโพรงประสาทฟัน ถ้าไม่รีบเข้ารับการรักษา ฟันผุอาจขยายลุกลามจนทำให้เกิดเป็นรู หรือโพรงที่บริเวณตัวฟัน และทำให้เกิดอาการปวดได้ และอาจทำให้มีปัญหาสุขภาพในช่องปากอื่นๆ ตามมา และอาจต้องสูญเสียฟันได้ในที่สุด
ฟันผุเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?
ฟันผุนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ฟันผุมักจะเกิดจากสาเหตุ ดังนี้
- แบคทีเรีย เป็นเชื้อแบคทีเรียภายในช่องปาก และจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดที่สามารถกัดผิวฟันได้
- ประเภทอาหารที่ทาน เป็นอาหารประเภทน้ำตาล และแป้ง ถ้าหากทานมากเกินไปก็จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายให้กลายเป็นกรดที่ทำให้ผิวฟันถูกทำลาย
- ฟันและสุขภาพช่องปาก หากฟัน และช่องปากไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม จะมีเศษอาหารตกค้างตามซอกฟัน ทำให้เกิดอาการฟันผุได้
- เวลา และความถี่ในการทานอาหาร ทุกครั้งที่ทานอาหารก็จะมีแบคทีเรียที่จะทำการย่อยสลายน้ำตาลให้กลายเป็นกรด ยิ่งทานอาหารนาน หรือทานขนมบ่อยครั้ง สภาพช่องปากก็จะมีความเป็นกรดนานขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดฟันผุ
ดังนั้น แบคทีเรียภายในช่องปากจะทำปฏิกิริยากับเศษอาหารที่ตกค้างตามซอกฟัน ย่อยอาหารประเภทน้ำตาล และปลดปล่อยกรดที่สามารถกัดผิวฟันออกมาละลายแร่ธาตุของโครงสร้างฟัน ทำให้ฟันผุไปเรื่อยๆ จากผิวเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ส่งผลให้ฟันผุ และมีอาการปวดได้
ฟันผุมักจะเกิดขึ้นในบริเวณไหนบ้าง?
ส่วนใหญ่ฟันผุมักเกิดขึ้นบริเวณซอกฟัน รากฟัน และฟันที่ใช้บดเคี้ยว เพราะบริเวณซอกฟัน เป็นส่วนที่เข้าถึงได้ยาก และทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันอย่างเดียวไม่เพียงพอ ส่วนฟันผุบริเวณรากฟัน เกิดขึ้นเพราะอาการเหงือกร่น หรือการสูญเสียกระดูกฟันที่มีสาเหตุมาจากโรคเหงือก หรือโรคปริทันต์อักเสบ และอาการฟันผุบริเวณฟันที่ใช้บดเคี้ยวนั้นเป็นเพราะมีหลุมร่องฟันต่างๆ มีโอกาสที่เศษอาหารจะตกค้าง และไม่สามารถทำความสะอาดได้หมด จึงเกิดคราบแบคทีเรียที่มักจะติดตามร่องฟันนี้ และกลายเป็นฟันผุในที่สุด
อาการฟันผุที่สามารถสังเกตได้มีอะไรบ้าง?
อาการฟันผุที่พบบ่อย และสามารถสังเกตได้ มีดังนี้
- เนื้อฟันเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น
- มีคราบสีดำ สีน้ำตาล หรือจุดสีดำ สีน้ำตาลตามผิวฟัน
- ลักษณะผิวฟันไม่เรียบ
- มีอาการปวดฟัน หรือเสียวฟัน
- ฟันเป็นรู หรือมีรอยผุที่ฟัน
อาการฟันผุมีกี่ระยะ?
อาการฟันผุนั้นมีทั้งหมด 4 ระยะ โดยแต่ละระยะจะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ซึ่งความรุนแรงของแต่ละระยะมีรายละเอียด ดังนี้
- ระยะที่ 1 มีสีขาวขุ่น หรือสีเทา สีดำ ปรากฏขึ้นบริเวณผิวฟัน หรือลักษณะผิวฟันไม่เรียบ มีรูเล็กๆ โดยในระยะนี้เป็นระยะที่ฟันถูกทำลายบางส่วน จึงยังไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ
- ระยะที่ 2 รูฟันผุขยาย และลุกลามลงไปสู่ชั้นเนื้อฟัน ใกล้กับโพรงประสาทฟัน จึงอาจเกิดอาการเสียวฟันในขณะที่ทานของหวาน หรือดื่มน้ำเย็น
- ระยะที่ 3 ฟันผุลึกไปจนถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งมีเส้นเลือด และเส้นประสาทรับรู้ความรู้สึก ทำให้เกิดอาการปวดฟัน และไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้
- ระยะที่ 4 ฟันผุอย่างรุนแรง อาการอักเสบลุกลามรอบตัวฟัน และอาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ทำให้เกิดอาการบวม หรืออาจเกิดฝี หนอง ทำให้ฟันโยก และมีอาการปวดจนเคี้ยวอาหารไม่ได้
วิธีการรักษาฟันผุมีแบบไหนบ้าง?
ถ้าหากมีอาการฟันผุ ควรรีบไปพบทันตแพทย์ทันที เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้วินิจฉัย และเลือกใช้วิธีการรักษาฟันผุได้เหมาะสมกับระดับของฟันผุ โดยวิธีการรักษาฟันผุ มีดังนี้
อุดฟัน
การอุดฟัน เป็นวิธีเบื้องต้นที่ทันตแพทย์เลือกใช้ในการรักษาฟันผุ ซึ่งขั้นตอนการอุดฟัน นั้นทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือกรอเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วปิดรูด้วยวัสดุอุดฟัน ซึ่งมีให้เลือกตามความเหมาะสม วิธีรักษาด้วยการอุดฟันนี้เหมาะกับคนไข้ที่มีฟันผุเป็นรูชัดเจน แต่ยังไม่ลุกลามเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน
รักษารากฟัน
การรักษารากฟัน เหมาะกับการรักษาในกรณีฟันผุได้ลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันแล้ว และจำเป็นต้องรักษารากฟันเอาไว้ โดยทันตแพทย์จะทำการขูดเส้นประสาทฟันที่อักเสบออกมา และทำความสะอาดโพรงเนื้อเยื่อ จากนั้นปิดด้วยการอุดคลองรากฟัน เพื่อเป็นการรักษาฟันซี่นั้นไว้แทนการถอนฟัน
ถอนฟัน
การรักษาฟันผุด้วยการถอนฟัน เป็นวิธีรักษาฟันผุที่ใช้ในกรณีฟันผุอย่างรุนแรง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการอักเสบลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง หรือเนื้อฟันแตกหักจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน เพราะเหลือพื้นที่เนื้อฟันน้อย และทันตแพทย์จะถอนฟันซี่ที่ผุแทน และอาจทำสะพานฟัน หรือรากฟันเทียมเข้าไปทดแทนฟันที่ถอนไป
วิธีป้องกันฟันผุไม่ให้เป็นอีกมีอะไรบ้าง?
ถ้าหากใครที่ยังไม่มีฟันผุ หรือเข้ารับการรักาษาฟันผุเรียบร้อยแล้ว ก็ควรทำการป้องกันไว้ เพื่อไม่ให้เป็นฟันผุ โดยวิธีป้องกันฟันผุที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง มีดังนี้
แปรงฟันให้ถูกวิธี
การแปรงฟันให้ถูกวิธี เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดอาการฟันผุ โดยควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือหลังทานอาหารทุกครั้ง พร้อมกับแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน เพื่อกำจัดคราบต่างๆ และเศษอาหาร ทำให้สุขอนามัยของช่องปากสะอาดอยู่เสมอ
เคลือบฟลูออไรด์
การเคลือบฟลูออไรด์ เป็นวิธีหนึ่งในการดูแลสุขภาพฟัน และสามารถช่วยเสริมให้โครงสร้างฟันแข็งแรงขึ้นได้ เพราะว่าการเคลือบฟลูออไรด์นั้นทำให้ผิวฟันสามารถทนทานต่อกรดที่เกิดจากการย่อยสลายอาหาร และช่วยป้องกันฟันผุได้ แถมการเคลือบฟลูออไรด์นั้นยังสามารถทำได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่อีกด้วย
พบทันตแพทย์เป็นประจำ
ทุกคนควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และช่องปาก ถ้าหากมีปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก หรือฟันมีความผิดปกติ จะได้ให้ทันตแพทย์รักษาได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้อาการลุกลามมากขึ้นได้
เลือกทานอาหาร
การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์สามารถช่วยป้องกันฟันผุได้ เช่น อาหารที่มีโปรตีนอย่างพวกเนื้อสัตว์ หรือผัก และผลไม้ที่มีวิตามิน และแร่ธาตุ เป็นต้น พร้อมกับควบคุมปริมาณการทานอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการทานของว่าง หรือทานของจุบจิบบ่อยครั้งด้วย
ปัญหาฟันผุนั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟัน และช่องปากที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลให้สูญเสียฟันในอนาคตได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรดูแลสุขภาพช่องปาก และฟันให้ดี พร้อมตรวจเช็กเป็นประจำว่าฟันของตัวเองนั้นมีอาการฟันผุหรือไม่ ถ้ามีอาการฟันผุก็จะได้ไปพบทันตแพทย์ และเข้ารับการรักษาฟันผุได้อย่างทันท่วงที แต่ถ้ายังไม่มีอาการดังกล่าวก็จะได้ป้องกันไว้เพื่อไม่ให้เกิดฟันผุ