โรคเลือดออกตามไรฟัน หรือที่หลายๆ คนรู้จักกันในชื่อ โรคลักปิดลักเปิด (Scurvy) เป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรง หรืออาจเกิดจากการทำความสะอาดช่องปากไม่ดีพอ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต และโรคประจำตัวบางอย่าง โดยลักษณะอาการเลือดออกตามไรฟันเบื้องต้นจะสังเกตได้ในขณะแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือขณะบ้วนปากจะพบว่ามีเลือดออกติดมากับแปรงสีฟัน หรือไหมขัดฟัน ดูแล้วเหมือนจะไม่อันตราย แต่จริงๆ แล้วหากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาในระยะเวลา 1-3 เดือน หลังจากแสดงอาการ โรคนี้สามารถพัฒนาไปเป็นโรคเหงือกอักเสบได้ และหากทิ้งไว้นานๆ ก็อาจทวีความรุนแรงถึงขั้นชักได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้น บทความนี้จะพามารู้จักกับโรคเลือดออกตามไรฟันกันอย่างละเอียด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจโรคและไปพบทันตแพทย์ได้ทันท่วงที
อาการที่พบได้ในโรคเลือดออกตามไรฟัน
อาการที่พบในเลือดออกตามไรฟันนั้น เบื้องต้นจะเป็นอาการที่มีเลือดออกมาจากฟันตามชื่อของโรคนั่นเอง แต่นอกเหนือจากอาการเลือดออกแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบอีกด้วย โดยอาการต่างๆ จะเกิดขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ในระยะเริ่มต้นของโรคเลือดออกตามไรฟันจะมีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรค ได้แก่
- ความอยากอาหารลดลง
- อ่อนล้า หรืออ่อนเพลีย
- ปวดขา
- เหงือกสีซีด
- ท้องเสีย
- อาการกระวนกระวาย
หากไม่รับการรักษาในช่วงระยะเวลา 1-3 เดือน อาจพบอาการดังต่อไปนี้เพิ่มเติม
- โลหิตจาง
- โรคเหงือกอักเสบ
- ฟันผุ
- เลือดออกใต้ผิวหนัง
- รอยช้ำที่ขาหรือเท้า
- ตาไวต่อแสง
- หายใจไม่อิ่ม
- อารมณ์แปรปรวน
- ตาแห้ง ระคายเคือง
- ปวดหัว
- ปวดข้อ ข้อบวม
- เจ็บหน้าอก
หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาเลย อาการของโรคเลือดออกตามไรฟันจะยิ่งทวีความรุนแรง อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ และหากไม่ได้รับการรักษาจะก่อให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้
- สูญเสียฟัน
- เกิดภาวะตัวเหลือง (Jaundice) ขั้นรุนแรง
- อาการปวด ปวดเมื่อสัมผัส และอาการบวมทั่วร่างกาย
- เกิดภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเม็ดเลือดแดงแตกมากกว่าปกติ (Hemolysis)
- เลือดออกภายใน
- โรคเส้นประสาท (Neuropathy) หรืออาการชา
- อวัยวะภายในล้มเหลว
- ชัก (Convulsion)
- อาการเพ้อคลั่ง
- โคม่า
อาการของโรคนี้ในเด็กยังมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่อีกด้วย ในกรณีที่เกิดกับเด็กจะส่งผลให้ทารกมีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่าย งอแง อาจมีอาการเป็นอัมพาต นอกจากนี้ อาจมีอาการกระดูกเปราะ รวมถึงอาการเลือดไหลไม่หยุดอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าโรคนี้ไม่ควรปล่อยไว้ให้บานปลาย ดังนั้น หากพบว่ามีอาการเบื้องต้นควรทำการนัดหมายกับทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาในขั้นต่อไป
ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ เลือดออกตามไรฟันเกิดจากอะไร
สาเหตุของเลือดออกตามไรฟัน มีหลากหลาย ได้แก่ เกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินซีรุนแรง การแปรงฟันที่แรงเกินไป คราบพลัคสะสม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เกล็ดเลือดต่ำ กำลังใช้ยารักษาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด และอาการป่วยลูคีเมีย เป็นต้น
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคเลือดออกตามไรฟัน มีดังนี้
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การใช้สารเสพติด
- สูบบุหรี่
- มีปัญหาด้านระบบประสาท
- มีปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกัน
- โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) : โรคลำไส่ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (UC) และ โรคโครห์น (CD)
- ขาดวิตามินซีและวิตามินเค
- ทานผักผลไม้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- อยู่ในวัยเด็กหรือมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
รักษาและป้องกันเลือดออกตามไรฟันให้อยู่หมัด
จะเห็นได้ว่าโรคเลือดออกตามไรฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย ดังนั้น ในการรักษาและหาวิธีหยุดหรือแก้เลือดออกตามไรฟันจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคเป็นหลัก ซึ่งการรักษาโรคเลือดออกตามไรฟันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การแก้ปัญหาตำแหน่งของฟัน หรือการดูแลรักษาฟัน พร้อมทั้งเพิ่มสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพฟัน เพื่อช่วยในการรักษาและป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรคดังกล่าว มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้าง
แก้ปัญหาตำแหน่งของฟัน
หนึ่งในสาเหตุหลักของเลือดออกตามไรฟันคือคราบพลัค และตำแหน่งฟันที่ผิดรูป ไม่ว่าจะเป็นขากรรไกร รวมไปถึงงานทันตกรรมที่เคยทำไป ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือโรคเลือดออกตามไรฟัน และปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา โดยการจัดฟันเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาตำแหน่งของฟันผิดปกติได้ แต่ทั้งนี้จะต้องทำความสะอาดและดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดควบคู่กันไปด้วย
ทำความสะอาดสุขภาพช่องปาก
การทำความสะอาดสุขภาพช่องปากเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจ ในการป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันนั้นสามารถทำได้โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี เลือกแปรงขนนุ่มไม่บาดผิว โดยจับแปรงสีฟันให้ตั้งมุม 45 องศา กับตัวฟัน และค่อยๆ แปรง ไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ฟันบนปัดลงล่าง ฟันล่างปัดขึ้นบน แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อขจัดเศษอาหารที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ตามซอกฟัน และบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปาก
เพิ่มอาหารที่มีวิตามินซี ในมื้ออาหาร
หนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดเลือดออกตามไรฟันคือ การขาดวิตามินซี หากขาดวิตามินซีอย่างต่อเนื่องหลายเดือนจะส่งผลต่อสุขภาพ และระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ป่วยง่าย ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินซีอย่างเพียงพอ ควรเลือกรับประทานผักหรือผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น เลมอน ส้ม ฝรั่ง สตรอว์เบอร์รี กีวี่ มะม่วง เสาวรส พริกหวานแดง พริกหวานเขียว มันฝรั่ง กะหล่ำปลี เป็นต้น หากมีตัวเลือกในการทานอาหารที่มีวิตามินซีน้อย หรือไม่ชอบทานผักผลไม้ สามารถใช้วิธีการทานอาหารเสริมวิตามินซีได้ ในการทานวิตามินซีก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับช่วงวัยและความต้องการของร่างกาย โดยปริมาณวิตามินซีที่แต่ละช่วงอายุต้องการ มีดังนี้
- ช่วงอายุ 0-6 เดือน : 40 มิลลิกรัม
- ช่วงอายุ 7-12 เดือน : 50 มิลลิกรัม
- ช่วงอายุ 1-3 ปี : 15 มิลลิกรัม
- ช่วงอายุ 4-8 ปี : 25 มิลลิกรัม
- ช่วงอายุ 9-13 ปี : 45 มิลลิกรัม
- ช่วงอายุ 14-18 ปี : เพศชาย 75 มิลลิกรัม, เพศหญิง 65 มิลลิกรัม
- ช่วงอายุ 19 ปีขึ้นไป : เพศชาย 90 มิลลิกรัม, เพศหญิง 75 มิลลิกรัม
ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตรจะมีความต้องการวิตามินซีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงให้นมบุตร ยกตัวอย่างเช่น สำหรับผู้หญิงในช่วงอายุ 19 ปีขึ้นไป ต้องการวิตามินซี 85 มิลลิกรัม ระหว่างตั้งครรภ์ และ 120 มิลลิกรัม ขณะให้นมบุตร เป็นต้น ส่วนบุคคลที่สูบบุหรี่จะมีความต้องการวิตามินซีมากกว่าคนทั่วไป 30 มิลลิกรัม ต่อวัน
สัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกว่าต้องพบทันตแพทย์แล้ว
เลือดออกตามไรฟันเป็นอาการที่หลายๆ คนอาจมองข้ามและคิดว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร ซึ่งอาการและความรุนแรงของโรคเลือดออกตามไรฟันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เนื่องจากสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงมีหลากหลาย ถ้าถามว่าเลือดออกตามไรฟันจะเป็นอันตรายไหม? ก็ตอบได้ว่ามีโอกาสที่จะเป็นอันตรายรุนแรงได้หากปล่อยไว้ไม่รักษาโดยเฉพาะหากสาเหตุนั้นเกิดจากร่างกายขาดวิตามินซี เนื่องจากการขาดวิตามินซีเป็นระยะเวลานานส่งผลร้ายต่อร่างกาย และเสี่ยงโรคเกี่ยวกับระบบเลือด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
ดังนั้น เมื่อสังเกตว่ามีอาการเลือดออกเรื้อรังและรุนแรง พบเจอเลือดออกขณะแปรงฟันเมื่อใช้ไหมขัดฟัน หรือเมื่อบ้วนปาก มีอาการเหงือกบวมแดง เลือดไหลไม่หยุด รวมถึงอาการอื่นๆ ที่พบว่าผิดปกติเกิดขึ้นร่วมกับอาการเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง
คำถามน่ารู้เกี่ยวกับเลือดออกตามไรฟัน
พอจะเข้าใจภาพรวมของโรคเลือดออกตามไรฟันไปแล้ว มาตอบคำถามยอดฮิตที่ใครๆ ก็สงสัยเกี่ยวกับโรคนี้กัน
เกิดอะไรขึ้น? ทำไมเลือดออกตามไรฟัน
เลือดออกตามไรฟันมีสาเหตุหลักมาจากการที่ร่างกายขาดวิตามินซี รวมถึงการรักษาสุขภาพช่องปากได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดคราบพลัค และการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเหงือกและฟัน รวมถึงการแปรงฟันที่รุนแรงจนทำให้ให้เกิดการบาดเจ็บภายในช่องปาก
เลือดออกตามไรฟันขาดวิตามินอะไร
เลือดออกตามไรฟันเกิดจากการขาดวิตามินซี และวิตามินเค
วิธีหยุดเลือดออกตามไรฟันอย่างไรให้หยุดสนิท
วิธีหยุดเลือดออกตามไรฟันนั้น ในกรณีที่มีเลือดออกเป็นจำนวนมาก ให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำเย็นกดบริเวณที่มีเลือดออก
เลือดออกตามไรฟันจะทำให้มีกลิ่นปากหรือไม่
เลือดออกตามไรฟันทำให้มีกลิ่นปากได้ เนื่องจากรอยแผลบริเวณเหงือกและร่องฟันทำให้เศษอาหารเข้าไปติด และเกิดการสะสมในบริเวณดังกล่าว
เลือดออกตามไรฟันอันตรายไหม ปล่อยทิ้งไว้ได้หรือไม่
เลือดออกตามไรฟันเป็นอันตรายต่อร่างกายไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะ หากพบอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น เลือดออกไม่หยุด เลือดออกเรื้อรัง รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความอยากอาหารลดลง ตัวซีด อ่อนเพลีย ปวดหัว หรือเป็นไข้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพบอาการเลือดออกตามไรฟันไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา
สรุป
เลือดออกตามไรฟันเกิดจากหลายปัจจัย เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติ และฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง แต่สาเหตุหลักๆ คือร่างกายขาดวิตามินซี ทำให้เลือดออกตามไรฟันได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นตอนแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือบ้วนปากก็อาจจะมีเลือดไหลปนออกมา สำหรับผู้ที่เป็นโรคเลือดออกตามไรฟันไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ แต่ควรได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ และดูแลสุขภาพฟันด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง เช่น การรักษาความสะอาดของสุขภาพช่องปาก รับประทานอาหารที่มีวิตามินซี และเลือกใช้แปรงที่มีขนที่นุ่ม ไม่แข็งกระด้าง