เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็อยากจะเห็นลูกมีรอยยิ้มที่สดใส และสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรงสมบูรณ์ของลูก ผู้ปกครองจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากตั้งแต่ที่เด็กมีฟันน้ำนมขึ้น บทความนี้มาแบ่งปันวิธีการดูแลฟันน้ำนมในวัยเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภายในช่องปากตามมา ซึ่งอะไรคือสาเหตุ ทำไมต้องป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุ ถ้าปล่อยให้เด็กฟันน้ำนมผุจะส่งผลกระทบใดบ้าง มาร่วมถามตอบและดูไปพร้อมๆ กันได้เลย
ทำไมถึงต้องป้องกันไม่ให้เด็กฟันน้ำนมผุ?
การดูแลฟันน้ำนมไม่ให้ผุเป็นเรื่องสำคัญเพราะปัญหาฟันผุนั้นมีโอกาสเกิดกับเด็กได้ง่าย โดยสามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กอายุไม่ถึง 1 ปี หรือตั้งแต่เพิ่งมีฟันน้ำนมขึ้นนั่นเอง เนื่องจากฟันน้ำนมมีความแข็งแรงน้อยกว่าฟันแท้ รวมถึงชั้นเคลือบฟันน้ำนมจะมีแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบของความแข็งแรง เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัสในปริมาณที่น้อยกว่าในฟันแท้ ฟันน้ำนมจึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะผุได้ง่าย นอกจากนั้น ฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นถัดมาก็เสี่ยงที่จะผุตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น ควรดูแลและป้องกันไม่ให้ฟันน้ำนมผุเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตัดปัญหาตั้งแต่ต้น
ถ้าหากปล่อยให้เด็กฟันน้ำนมผุจะส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
หากปล่อยให้เด็กฟันน้ำนมผุจะส่งผลกระทบหลายอย่าง เช่น
- มีอาการปวดฟัน อาจปวดมากจนทานอาหารไม่ได้ ทำให้ร่างกายรับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโต
- มีความเสี่ยงที่จะทำให้ฟันแท้ผุตามไปด้วย
- หากฟันน้ำนมผุมากจนต้องถอนออก ฟันแท้อาจขึ้นช้ากว่าปกติ และอาจเกิดฟันซ้อน ฟันเกได้ ซึ่งอาจทำให้เด็กๆ ไม่มั่นใจในตัวเอง เนื่องจากมีลักษณะฟันไม่เหมือนเพื่อนคนอื่นๆ กลายเป็นผลกระทบด้านจิตใจและอารมณ์ได้
- หากไม่รีบรักษา อาการอาจลุกลามขยายไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องเสียฟัน และมีปัญหาอื่นๆ แทรกซ้อนมาได้อีก
เด็กฟันน้ำนมผุเพราะอะไร
สาเหตุที่ทำให้เด็กฟันน้ำนมผุ เกิดจาก 3 ปัจจัยเหล่านี้
- แบคทีเรีย: เชื้อแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์ ทำปฏิกิริยากับเศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก ทำให้เกิดกรดที่กัดทำลายผิวฟัน
- น้ำตาล: อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลจะถูกแบคทีเรียย่อยสลาย เกิดปฏิกิริยากลายเป็นกรดที่ทำลายผิวฟัน ซึ่งอาหารหลายอย่างที่เด็กๆ บริโภค มักมีส่วนผสมเป็นแป้งและน้ำตาล ตั้งแต่น้ำนม ขนมหวาน ของทานเล่น น้ำอัดลม เป็นต้น จึงควรควมคุมปริมาณในการทานอาหารประเภทดังกล่าวให้ดี
- สภาพฟันที่ไม่แข็งแรง: ฟันที่ไม่แข็งแรงจะมีโครงสร้างผิวฟันที่บอบบาง สามารถผุได้ง่าย รวมทั้งหากฟันมีร่องลึก เกิดขึ้นในตำแหน่งผิดปกติ ฟันซ้อนไม่เป็นระเบียบ จะทำให้ยากต่อการทำความสะอาด เศษอาหารที่ยังตกค้างอยู่ก็จะกลายเป็นสาเหตุของฟันน้ำนมผุเอาได้
ลักษณะของฟันน้ำนมผุในเด็กเป็นอย่างไร?
ลักษณะฟันน้ำนมผุในเด็ก สามารถสังเกตได้จาก
- ในระยะเริ่มต้น บริเวณคอฟันจะเริ่มมีรอยสีขาวขุ่น
- บนผิวฟันมองเห็นจุดเล็กๆ สีดำหรือสีน้ำตาล
- ฟันเป็นรู มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อทานน้ำเย็นหรือของหวาน จะเกิดอาการปวดหรือเสียวฟัน
- อาจเกิดหนองบริเวณฟันและเหงือก
7 วิธีการดูแลฟันน้ำนมของวัยเด็กแบบง่ายๆ ที่ผู้ปกครองควรรู้ไว้
แม้ฟันน้ำนมผุจะเกิดขึ้นกับเด็กได้ง่าย แต่ก็สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีการดูแลฟันน้ำนม ดังต่อไปนี้
ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์นั้นช่วยป้องกันฟันน้ำนมผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากฟลูออไรด์จะเข้าไปสะสมและช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับผลึกเคลือบฟัน ส่งผลให้ฟันทนทานต่อกรดจากแบคทีเรียในช่องปากมากขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยซ่อมแซมฟันได้ในระยะแรก ทั้งนี้ เด็กที่จะใช้ยาสีฟันได้ คือเด็กๆ ที่เริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นเป็นต้นไป โดยต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ได้แก่
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ให้ใช้ยาสีฟันในปริมาณขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร
- เด็กอายุ 3 – 6 ขวบ ใช้ยาสีฟันปริมาณเท่าเมล็ดข้าวโพด
- เด็กอายุ 6 ขวบ ขึ้นไป ใช้ยาสีฟันปริมาณ 1 นิ้ว
เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ ยังไม่สามารถควบคุมการกลืนได้ หากใช้ยาสีฟันเยอะเกินไปจะทำให้เผลอกลืนลงไปมาก จนอาจเกิดอาการปวดท้อง หรือร่างกายสะสมสารฟลูออไรด์มากเกินไป
แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง
ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ได้แก่ ช่วงเช้าหลังจากตื่นนอนและตอนกลางคืนก่อนเข้านอน และใช้เวลาแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาที สำหรับเด็กที่เริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นนั้น สามารถใช้ยาสีฟันได้ โดยปริมาณยาสีฟันต้องใช้ให้เหมาะสมกับช่วงวัย วิธีนี้จะช่วยทำความสะอาดช่องปาก ไม่ให้มีเศษอาหารตกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฟันน้ำนมผุได้
แปรงซ้ำ 2 รอบ
ให้เด็กๆ แปรงฟันด้วยตนเองก่อน 1 รอบ แล้วให้คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองช่วยแปรงฟันซ้ำอีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยให้ฟันของเด็กได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกต้องและทั่วถึง ซึ่งควรใช้กับเด็กวัยประมาณ 3 – 6 ขวบ ต่อมาเมื่อเด็กอายุ 6 – 12 ขวบ จะสามารถแปรงฟันเองได้คล่องขึ้น โดยให้ผู้ปกครองช่วยตรวจซ้ำอีกครั้ง
พบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน
ผู้ปกครองควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หรือมีฟันน้ำนมขึ้นเป็นซี่แรก หลังจากนั้นภายใน 1 ขวบก็ควรมาพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพฟัน ประเมินความเสี่ยงในการเกิดฟันน้ำนมผุ และรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากที่ถูกต้อง
งดดื่มน้ำ หรือทานอาหารหลังแปรงฟัน 30 นาที
ควรงดดื่มน้ำ หรือทานอาหารหลังแปรงฟัน เพราะหลังจากแปรงฟันแล้วแร่ธาตุและฟลูออไรด์ในยาสีฟันจะเข้าไปซ่อมแซมผิวเคลือบฟัน ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที หากทานอาหารหลังแปรงฟันทันที แบคทีเรียในช่องปากจะเปลี่ยนน้ำตาลและแป้งเป็นกรด ทำให้ฟันสึกกร่อน บางลง และฟันน้ำนมผุตามมาในที่สุด
หลีกเลี่ยงการดื่มนมมื้อดึก
การหลีกเลี่ยงการดื่มนมมื้อดึก ช่วยป้องกันฟันน้ำนมผุได้ เนื่องจากแบคทีเรียสามารถทำปฏิกิริยากับน้ำตาลในนมจนเกิดเป็นกรดที่กัดกร่อนผิวฟัน แต่ถ้าจำเป็นต้องดื่มนม ควรแปรงฟันให้สะอาดก่อนเข้านอน
หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยว และอาหารที่หวานจัด เค็มจัด
พยายามหลีกเลี่ยงการทานขนมขบเคี้ยวที่เหนียวติดฟัน โดยเฉพาะขนมที่มีรสหวานจัด หรือเค็มจัด นอกจากนั้น ควรงดแป้งและน้ำตาล อาจปรับเปลี่ยนจากขนมเป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง มีแร่ธาตุอาหารต่างๆ แทน อย่างไรก็ตาม หากเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน ก็ควรต้องระวัง อย่าทานมากเกินไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว ผลไม้ แป้ง หรือน้ำตาล หากทานมากเกินไปแล้วไม่ได้รับการทำความสะอาดเป็นประจำอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสฟันน้ำนมผุมากขึ้นได้ทั้งนั้น
สรุปผู้ปกครองหลายท่านคงจะทราบแล้วว่า ฟันน้ำนมผุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในวัยเด็กตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 1 ปี และการปล่อยให้เด็กฟันน้ำนมผุจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก และความมั่นใจของเด็กๆ ด้วย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับวิธีการดูแลฟันน้ำนม และรีบป้องกันไว้ก่อนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ลูกมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง และไม่ต้องมารักษาในภายหลัง