สาเหตุหลักของโรคเหงือกอักเสบมาจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ตามซอกเหงือก และซอกฟัน เมื่อทำความสะอาด หรือดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ก็จะสะสมจนทำให้เกิดคราบพลัค หากยิ่งปล่อยทิ้งไว้นานเกินไปก็จะส่งผลต่อสุขภาพเหงือก และฟัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบ เหงือกบวมเป็นตุ่ม และเลือดออกได้ง่าย โดยปกติแล้วเหงือกที่มีสุขภาพดีเนื้อจะต้องแน่น และมีสีชมพูอ่อน แต่หากเหงือกเกิดการติดเชื้อจนอักเสบ จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม และมีสีแดงช้ำๆ ที่ขอบเหงือก ที่สำคัญเลือดจะออกได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาแปรงฟัน บางครั้งเวลาเคี้ยวก็อาจจะรู้สึกเจ็บ เพราะมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน
แต่ในบางกรณีอาจไม่มีอาการเจ็บปวดแสดงให้เห็น ถ้าไม่ไปพบทันตแพทย์ ก็อาจเป็นโรคเหงือกอักเสบโดยที่ตัวเราไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงต้องคอยหมั่นสังเกตตัวเองอยู่ตลอด และดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี เพราะถ้ายิ่งปล่อยให้คราบพลัค และหินปูนเกาะติดอยู่บนฟันนานเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้เหงือกเกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดการอักเสบได้ และถ้าปล่อยให้เหงือกอักเสบไปโดยไม่ทำการรักษา โรคเหงือกอักเสบอาจมีอาการที่รุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย และอาจสูญเสียฟันได้ในที่สุด
ส่องสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้
บางคนอาจจะคิดว่าแค่เหงือกบวม หรือเป็นแค่โรคเหงือกอักเสบ เดี๋ยวก็หายเองได้ และไม่ต้องทำการรักษา แต่รู้หรือไม่ว่าโรคนี้อันตรายกว่าที่คิด ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ถือเป็นต้นเหตุ
- การสูบบุหรี่
- ปากแห้ง
- ขาดวิตามิน
- มีฟันคุดในช่องปาก
- การใช้อุปกรณ์จัดฟัน
- สตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนมากกว่าปกติ
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และไม่ควบคุมระดับน้ำตาล
- อายุที่มากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือกอักเสบเพิ่มขึ้น
- คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคเหงือกอักเสบมาก่อน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเสี่ยงได้
นอกจากนี้การเรียงตัวของฟันก็เป็นปัจจัยในการเกิดโรคเหงือกอักเสบได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาฟันซ้อน ฟันเก จะทำให้ขจัดคราบต่างๆ ได้ยากกว่าปกติ ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ ทันตแพทย์จะให้การดูแลเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นหากสังเกตตัวเองว่ามีอาการที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคเหงือกอักเสบ ให้รีบพบทันตแพทย์ทันที ถ้าได้รับการรักษาไว ก็มีโอกาสในการฟื้นฟูความเสียหายจากโรคได้เร็วขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้โรคเหงือกมีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย
แนะวิธีรักษาเหงือกอักเสบด้วยเอง เมื่ออาการยังไม่รุนแรง
โรคเหงือกอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลรักษาช่องปากดีๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากทันตแพทย์ แต่ถ้าหากอาการยังไม่รุนแรงมาก ก็สามารถทำการดูแลช่องปาก เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ได้ด้วยตนเองก่อนเข้าพบทันตแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาเหงือกอักเสบด้วยตัวเองทำได้ง่ายๆ ดังนี้
- แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และเปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยทุกๆ 2-3 เดือน รวมถึงควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม เพราะหากใช้ขนแปรงที่แข็ง อาจจะยิ่งทำร้ายเหงือกได้ และต้องระวังอย่าแปรงฟันแรงเกินไป
- ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อทำความสะอาดตามซอกฟันที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง เพื่อขจัดเศษอาหารออกให้หมด
- ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมที่ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ และลดปริมาณน้ำตาลลงให้เหมาะสม
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลาย
- เข้าพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันว่ามีความผิดปกติหรือไม่
เมื่อมีอาการบวมหรือปวดสามารถบรรเทาได้ด้วยการประคบร้อน เพื่อลดอาการบวม หรือกินยาแก้เหงือกอักเสบ เช่น ยาพาราเซตามอล หรือเลือกใช้สมุนไพรในการลดอาการอักเสบของเหงือกอย่างขมิ้นชัน โดยนำขมิ้นชันมาบด เติมเกลือเล็กน้อย ผสมให้เข้ากัน แล้วทาขมิ้นลงไปที่เหงือกบริเวณที่มีอาการบวม จะช่วยลดอาการอักเสบและลดอาการบวมที่เกิดจากโรคเหงือกอักเสบได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้น้ำยาบ้วนปากสมุนไพรในการบรรเทาอาการบวมของเหงือกได้เช่นกัน
วิธีรักษาเหงือกอักเสบ ก่อนสูญเสียฟัน
โรคเหงือกอักเสบอาจฟังดูไม่อันตราย แต่ถ้าหากปล่อยไว้ไม่ดูแลทำความสะอาด ปล่อยให้คราบพลัค และหินปูนเกาะอยู่บนฟันนานเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้เหงือกเกิดการระคายเคืองและอักเสบได้ ยิ่งถ้าเราปล่อยให้เหงือกอักเสบโดยไม่ทำการรักษา อาจนำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตราย ซึ่งวิธีเหล่านี้สามารถป้องกันการเกิดโรคเหงือกอักเสบได้
ขุดหินปูน ทำความสะอาดฟัน
การขูดหินปูนเป็นการทำความสะอาดช่องฟันโดยใช้อุปกรณ์ทางทันตกรรม เพื่อขจัดคราบพลัคและคราบหินปูนออก โดยปกติแล้วเราจะต้องทำการขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันการสะสมของคราบต่างๆ แต่ในบางคนที่ไม่ได้ขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมออาจทำให้คราบสะสมลึกลงไปถึงรากฟันที่อยู่ใต้เหงือก ทำให้ต้องทำการเกลารากฟัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ว่าขูดหินปูนแล้วจะไม่เสี่ยงในการเป็นโรคเหงือกอักเสบ เพราะการขูดหินปูนนั้นเป็นเพียงการทำความสะอาดช่องปากเท่านั้น ดังนั้นทุกคนจึงต้องทำความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกครั้งที่รับประทานอะไรเข้าไปก็จะเกิดคราบใหม่ได้ตลอดนั่นเอง
ตกแต่งฟันให้เข้าที่
ในบางคนที่มีปัญหาโรคเหงือกอักเสบบ่อยๆ อาจเกิดจากปัญหาการเรียงตัวของฟันที่ไม่เข้าที่ หรือมีฟันซ้อน และฟันเก จึงมีโอกาสที่จะทำให้เศษอาหารเข้าไปติดตามซอกฟันได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้ทำความสะอาดยากขึ้น และอาจทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดปัญหาโรคเหงือกอักเสบได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไข ซึ่งอาจจะทำการแก้ไขด้วยการจัดฟัน หรือแก้ไขตามคำแนะนำของทันตแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากปัญหาเหงือกอักเสบ
โรคเหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา จะทำให้อาการลุกลาม เพราะว่าโรคเหงือกนั้นสามารถแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและกระดูกที่อยู่ด้านล่างได้ และก่อให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบตามมา ซึ่งเป็นภาวะที่ร้ายแรงกว่าโรคเหงือกอักเสบ อาจนำไปสู่การสูญเสียฟัน เพราะโรคปริทันต์เกิดจากการที่มีการอักเสบเรื้อรัง กระดูกเบ้าฟัน และเนื้อเยื่อของเหงือกถูกทำลาย นอกจากนั้นการอักเสบของโรคเหงือกเรื้อรัง อาจเกี่ยวข้องกับโรคทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ด้วย ถ้าหากอาการโรคเหงือกอักเสบรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ในงานวิจัยบางชิ้นบอกว่าแบคทีเรียนั้นสามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเนื้อเยื่อของเหงือก ซึ่งจะส่งผลต่อหัวใจ ปอด และส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้อีกด้วย
แนวทางป้องกัน ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากอย่างไร ให้ห่างไกลเหงือกอักเสบ
การดูแลช่องปากนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและควรทำจนติดเป็นนิสัยด้วย เพราะว่าปัญหาโรคเหงือกอักเสบสามารถหายไปได้ก็ต่อเมื่อทำความสะอาดช่องปากเป็นอย่างดี และได้รับการดูแล หรือตรวจเช็กจากทันตแพทย์เป็นประจำ ถึงแม้ว่าปัญหาโรคเหงือกอักเสบนั้นจะหายไปแล้ว แต่ก็ยังต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ โดยปฏิบัติตามวิธีต่างๆ ดังนี้
ดูแลสุขอนามัยช่องปากให้ดี
วิธีที่ดีที่สุด คือ การดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพฟัน และฝึกนิสัยในการแปรงฟัน โดยควรแปรงให้ครบ 2 ครั้งต่อวัน ทั้งตอนเช้าและก่อนนอน หรือถ้าจะให้ดีควรแปรงฟันหลังรับประทานอาหารเสร็จด้วย
เข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำ
ควรเข้าพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือน เพื่อทำการตรวจเช็กสุขภาพฟันและตรวจภายในช่องปาก เพราะจะได้รู้ว่ามีปัญหาอื่นๆ หรือเปล่า เช่น มีฟันผุไหม หรือเป็นโรคเหงือกหรือเปล่า เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันเวลาก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น หรือในบางรายอาจจะเข้ารับการเอกซเรย์ทางทันตกรรม เพื่อช่วยระบุโรคที่อาจจะตรวจจากภายนอกไม่พบ
เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อช่องปาก
เมื่อเราดูแลช่องปากให้ดีแล้ว ก็ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการรับประทานอาหารด้วย เพราะว่าอาหารนั้นมีผลต่อสุขภาพช่องปากเช่นกัน ดังนั้นหากเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้สุขภาพช่องปากดีตามไปด้วย โดยวิธีการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อช่องปาก มีดังนี้
- เลือกรับประทานผักผลไม้ เพราะว่าผักและผลไม้มีไฟเบอร์สูง ซึ่งช่วยลดการเกิดฟันผุ และคราบหินปูน
- พยายามลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล เพราะจะทำให้ฟันผุได้ง่าย ที่สำคัญยังทำให้ผิวเคลือบฟันอาจถูกทำลายด้วย
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับฟัน
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในช่องปากได้
- งดดื่มน้ำอัดลม เพราะทำให้ฟันกร่อนได้
โรคเหงือกอักเสบเป็นโรคที่เหงือกเกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดอาการบวม แดง และอักเสบ ซึ่งเกิดจากเศษอาหารที่เข้าไปติดตามซอกฟัน และทำความสะอาดช่องปากไม่สะอาดพอ ทำให้คราบอาหาร และเชื้อแบคทีเรียทำลายเหงือก ส่วนใหญ่แล้วมักมีอาการไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีรักษาเหงือกอักเสบด้วยตัวเองสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการบ้วนปากทุกครั้งหลังมืออาหาร ดื่มน้ำให้เพียงพอ หากมีอาการบวมร่วมด้วยก็ใช้วิธีประคบร้อน แต่สำหรับกรณีที่มีอาการรุนแรง ก่อนจะรักษาเหงือกอักเสบควรเข้ามาปรึกษากับทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุก่อนเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี