ปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและสุขภาพฟันเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่เว้นแม้แต่ในช่วงเวลาสำคัญอย่างการตั้งครรภ์ หลายคนอาจสงสัยว่าถ้าเกิดมีปัญหาสุขภาพฟันในช่วงที่อุ้มท้องจะทำอย่างไรดี หรือหากต้องการดูแลฟัน ไปหาทันตแพทย์ในช่วงนั้น จะทำได้หรือไม่ บทความนี้จะมาให้คำตอบอย่างครอบคลุมว่าคนท้องทำฟันได้ไหม? ถอนฟันได้ไหม? ถ้าขูดหินปูน หรืออุดฟันจะส่งผลต่อลูกในท้องหรือเปล่า? ฯลฯ มาดูกันว่าทำฟันอะไรได้บ้าง และควรทำในช่วงระยะครรภ์เท่าไหร่
คนท้องสามารถทำฟันได้ไหม?
คนท้องทำฟันได้ไหม? คำตอบก็คือ คนท้องสามารถทำฟันได้ แต่ช่วงที่ปลอดภัย และไม่มีผลต่อลูกในท้องมากที่สุด ควรทำช่วงไตรมาสที่ 2 หรือ ช่วง 4-6 เดือนของช่วงอายุครรภ์ และต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทุกครั้งว่าตั้งครรภ์อยู่ เพราะขณะตั้งครรภ์ บางท่านอาจจะมีขนาดท้องที่เล็ก แพทย์อาจจะมองไม่ออกว่าตั้งครรภ์อยู่ เมื่อทันตแพทย์ทราบแล้ว จะได้ระวังในส่วนกระบวนการที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กในท้อง เช่นการเอกซเรย์ หรือการให้ยาที่ปลอดภัย
คนท้องสามารถฉีดยาชาได้ไหม?
นอกจากคำถามที่ว่าคนท้องทำฟันได้ไหม? ก็จะมีอีกหลายคนที่สงสัยว่าแล้วคนท้องสามารถฉีดยาชาได้หรือไม่? ซึ่งคำตอบคือ สามารถฉีดยาชาได้ เพราะยาชาจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และบรรเทาความเครียดได้ แต่ต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบทุกครั้งว่าตั้งครรภ์อยู่ เพื่อให้ทันตแพทย์ดูปริมาณยาที่เหมาะสมให้ และเลือกยาชนิดที่ไม่มีผลกระทบกับเด็กในท้อง
ระยะตั้งครรภ์กับการทำฟัน
ระยะการตั้งครรภ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำฟัน เพราะบางช่วงเวลาเสี่ยงเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ที่อุ้มท้องและลูกในท้อง ดังนั้น ก่อนรับการทำทันตกรรม ควรศึกษาก่อนว่าผู้ตั้งครรภ์มีอายุครรภ์อยู่ในไตรมาสไหน
ช่วง 1-3 เดือน
ไตรมาสแรก ช่วงที่เด็กกำลังอยู่ในกระบวนการสร้างและพัฒนาของอวัยวะสำคัญต่างๆ ในร่างกาย เช่นเดียวกับระบบการทำงานของร่างกาย เป็นช่วงที่ต้องเผชิญกับอาการต่างๆ เช่น อาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อยากอาหาร และมีผลกระทบทางอารมณ์ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่สูงขึ้น และมีผลต่อเด็กในท้อง
คนท้องทำฟันได้ไหมในไตรมาสนี้? ขอตอบว่า ไม่ควร เพราะการทำฟันอาจจะมีผลต่อเด็กในท้องได้ แต่ถ้าหากทันตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องรักษาฟันแบบฉุกเฉิน ก็จำเป็นต้องรักษา เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือช้าเกินไป อาจเกิดผลเสียทั้งกับผู้ตั้งครรภ์ และเด็กในท้องได้เช่นกัน
ช่วง 4-6 เดือน
ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่เด็กได้สร้างและพัฒนาอวัยวะต่างๆ เสร็จสิ้นแล้ว ส่วนผู้ตั้งครรภ์ก็ผ่านช่วงที่ร่างกายต้องทำงานหนักเพื่อสร้างอวัยวะ และระบบต่างๆ ให้ลูกน้อยแล้วเช่นกัน นอกจากนั้นลูกน้อยในไตรมาสนี้มักอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และพร้อมจะพัฒนาเติบโตได้อย่างเต็มที่แล้ว
คนท้องทำฟันได้ไหมในไตรมาสที่ 2 นี้? คำตอบคือสามารถทำทันตกรรมได้บางประเภท จริงๆ แล้วถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ปลอดภัย และสะดวกที่สุดสำหรับการทำฟัน เพราะจะมีผลกับเด็กในท้องน้อยที่สุด ทั้งนี้ ทันตแพทย์อาจพิจารณาดูความจำเป็น ถ้าอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหาภายในช่วงที่ตั้งครรภ์ ก็อาจจะต้องเลี่ยงไปก่อน
ช่วง 7-9 เดือน
ไตรมาสที่ 3 จะคล้ายๆ ไตรมาสแรก เป็นช่วงที่เด็กทารกมีขนาดตัวมากขึ้น และมีการเคลื่อนไหว กระดูกจะแข็งแรงมากขึ้น สมองพัฒนาเต็มที่ ระบบประสาทก็เช่นกัน
คนท้องทำฟันได้ไหมในไตรมาสที่ 3 นี้? ขอตอบว่า ไม่แนะนำเท่าไหร่นัก เนื่องจากการทำฟันในช่วงนี้อาจมีผลต่อเด็กในท้องได้ เพราะระบบประสาทต่างๆ ของทารกทำงานแล้ว การทำอะไรในช่วงนี้จึงต้องระวังเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ขนาดครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นอาจทำให้ไม่สะดวกต่อการนั่ง หรือนอนบนเก้าอี้ทำฟัน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากต้องได้รับการรักษาทางช่องปากฉุกเฉินก็สามารถรักษาได้เท่าที่จำเป็น เช่น กรณีเกิดภาวะโรคเหงือกอักเสบที่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม อาจจะกระทบถึงขั้นทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนดได้
อาการที่อาจพบระหว่างตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมน และระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาช่องปากได้ อาการที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ มีดังนี้
ฟันผุ
ในช่วงตั้งครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์มักจะรู้สึกหิว และอยากอาหารมากขึ้น ซึ่งยิ่งรับประทานเพิ่มขึ้น น้ำตาล หรือเศษอาหารก็จะไปเกาะอยู่ตามซอกฟันได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น อาการแพ้ท้อง อาเจียน จะทำให้กรดจากกระเพาะอาหาร และเศษอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด มาติดอยู่ตามซอกฟันเช่นกัน ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ฟันผุ
อีกผลข้างเคียงเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์ก็คือ ฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรนจะสูงขึ้น ทำให้เหงือกในช่องปากนุ่ม และอักเสบได้ง่าย จะทำให้รู้สึกเจ็บ และแปรงฟันลำบาก ผลสุดท้ายจึงอาจฟันผุได้นั่นเอง
เหงือกอักเสบ
จากที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้ เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์จะเกิดฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กของเหงือกมีการเปลี่ยนแปลง เหงือกจะนุ่ม ทำให้อักเสบและเลือดออกได้ง่าย จนอาจเป็นแผลในช่องปาก
เลือดออกตามไรฟัน
จากพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจทานอาหารจำพวก แป้ง และน้ำตาลมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการก่อตัวของคราบติดตามฟันและตามแนวเหงือก และทำให้แบคทีเรียเติบโตขึ้นจนกลายเป็นคราบหินปูน ทำให้เหงือกอักเสบ และมีเลือดออกตามไรฟัน
คนท้องสามารถทำทันตกรรมอะไรได้บ้าง?
เนื่องจากการทำฟันเป็นสิ่งที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ตั้งครรภ์หลายๆ คนคงมีข้อสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ คนท้องถอนฟันได้ไหม? คนท้องอุดฟันได้ไหม? หรือคนท้องขูดหินปูนได้ไหม? มาดูคำตอบกันเลยว่าเมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์สามารถทำทันตกรรมอะไรได้บ้าง
ถอนฟัน
คนท้องถอนฟันได้ไหม? เมื่อจำเป็นต้องถอนฟันขณะตั้งครรภ์ สามารถถอนฟันได้ และสามารถทำได้ในทุกช่วงอายุของการตั้งครรภ์ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทันตแพทย์ แต่ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันช่วงไตรมาสที่ 2 มากกว่า เพราะเป็นช่วงที่ปลอดภัย สะดวกต่อผู้ตั้งครรภ์ และเด็กในท้องมากที่สุด
อุดฟัน
คนท้องอุดฟันได้ไหม? การอุดฟัน คือการเอาวัสดุอุดรูหรือโพรงของฟันที่ผุ เพื่อปิดช่องไม่ให้แบคทีเรียหรือเศษอาหารเข้าไปติด นับเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสียหายของเนื้อฟัน และถือว่ามีความจำเป็น หากจำเป็นต้องอุดฟันในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถทำได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือถ้ามีอาการที่รุนแรงมากให้เข้าปรึกษาแพทย์ทันที และต้องแจ้งว่าตั้งครรภ์อยู่ทุกครั้ง
ขูดหินปูน
คนท้องขูดหินปูนได้ไหม? หินปูน คือคราบที่เกิดจากแบคทีเรียที่รวมตัวกับโปรตีน หรือเศษอาหารจนกลายเป็นแผ่นจุลินทรีย์ แล้วเกาะติดอยู่ขอบฟันที่ติดกับเหงือก ซึ่งการขูดหินปูน คือการขจัดคราบที่อยู่ตามบริเวณฟันและซอกฟัน เพื่อป้องกันโรคเหงือกและฟัน
ในระหว่างตั้งครรภ์ เหงือกจะไวต่อหินปูนมากกว่าปกติ จึงเสี่ยงต่อการอักเสบและเกิดโรคเหงือกได้ง่าย จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการขูดหินปูน โดยหากต้องขูดหินปูนควรทำในช่วงไตรมาสที่ 2
คนท้องควรงดทำทันตกรรมอะไรบ้าง?
แม้ว่าจะสามารถทำทันตกรรมที่จำเป็นได้หลายประเภท เแต่ก็มีทันตกรรมบางส่วนมีที่ควรงดระหว่างตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลต่อผู้ที่ตั้งครรภ์ และเด็กในท้อง ได้แก่
ถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด
การถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด คือ การเอาฟันกรามซี่สุดท้ายที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาได้ ซึ่งฟันจะฝังตัวอยู่ในเหงือก และทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวด หรือบวม จึงต้องได้รับการถอนออก
ทันตแพทย์จะไม่แนะนำให้ผ่าฟันคุด เพราะเป็นการรักษาที่ใช้เวลานาน เสี่ยงทำให้เกิดความเครียด นอกจากนั้น ยังเป็นทันตกรรมที่ใช้เวลารักษาตัว และจะรู้สึกเจ็บ หรือปวดหลังจากผ่าตัดหลายวัน ดังนั้น ถ้าฟันคุดไม่ได้มีอาการที่รุนแรงมาก ให้เลื่อนไปผ่าหลังตั้งครรภ์ดีกว่า
รักษารากฟัน
การรักษารากฟัน คือการรักษาฟันที่มีความเสียหายภายในเนื้อฟัน โดยการนำเส้นประสาท เนื้อฟัน และเส้นเลือดภายในฟันซี่ที่มีความเสียหายออกไป จากนั้นค่อยอุดฟัน เป็นทางเลือกของคนที่ฟันผุรุนแรง
จริงๆ แล้วการรักษารากฟันสามารถทำได้ในทุกๆ ช่วงระยะเวลาของการตั้งครรภ์ แต่ทันตแพทย์จะแนะนำให้เลี่ยง เพราะการรักษารากฟันค่อนข้างใช้เวลานาน อาจจะทำให้เครียดได้ และหลังจากรักษาก็มักมีอาการปวดตามมา
ฟอกสีฟัน
การฟอกสีฟัน คือ การรักษาที่ช่วยทำให้ฟันที่มีสีคล้ำ สีเหลือง ให้ขาวขึ้นโดยใช้น้ำยาฟอกสีฟัน และกระตุ้นการแตกตัวของน้ำยาฟอกสีฟันด้วยเลเซอร์
ขณะตั้งครรภ์สามารถฟอกสีฟันได้ แต่ทางทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่แนะนำให้ทำ เนื่องจากการฟอกสีฟันต้องอยู่บนเก้าอี้เป็นเวลานาน ไม่สะดวกสบาย และอาจมำให้เครียด นอกจากนั้นทันตกรรมประเภทนี้จัดเป็นทันตกรรมเพื่อเสริมความงามเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงแนะนำให้เลื่อนออกไปก่อน
จัดฟัน
การจัดฟัน เป็นการรักษาที่ช่วยแก้ไขฟันที่เรียงกันไม่เป็นระเบียบ เช่น ฟันซ้อน ฟันห่าง ฟันไม่สบกัน ถ้าผู้ตั้งครรภ์จัดฟันมาก่อนอยู่แล้วก็สามารถจัดฟันต่อในขณะตั้งครรภ์ได้ แต่ให้เว้นช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้าย กรณีที่ไม่เคยจัดฟันมาก่อน ทันตแพทย์แนะนำให้รอไปก่อน เพราะการจัดฟันต้องมีการเอกซเรย์ ซึ่งจะปลอดภัยกว่าถ้าพ้นช่วง 3 เดือนแล้วไปแล้ว
นอกจากนั้น การตั้งครรภ์จะทำให้คนไข้มีน้ำหนักมากขึ้นบนใบหน้า ช่องปากอาจมีการเปลี่ยนรูป ส่งผลให้อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดัดฟัน ส่วนสิ่งที่ทันตแพทย์ห้ามคนที่ตั้งครรภ์อยู่ทำโดดเด็ดขาด คือการดัดฟันแฟชั่น เพราะเป็นการดัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
เอกซเรย์ฟัน
การเอกซเรย์ฟันเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องเข้ารับการดูแลรักษาสุขภาพของช่องปาก โดยทางผู้ช่วยทันตแพทย์จะให้สวมเสื้อคลุมตะกั่วหนักๆ เพื่อป้องกันรังสี และจะสอดเครื่องมือพลาสติดเข้าไปในช่องปากแล้วกัดไว้ เพื่อให้ฟิล์มเอกซเรย์อยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ ขั้นตอนนี้จะไม่มีอาการเจ็บอะไร
ในสมัยก่อนการเอกซเรย์ฟันขณะตั้งครรภ์ถือว่าไม่ปลอดภัยเลย แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องมือทันตกรรมที่ให้ลดจำนวนรังสีที่ปล่อยออกมาระหว่างเอกซเรย์ลงจนเหลือจำนวนน้อยมาก ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์ และเด็กในท้อง แต่ก็ไม่แนะนำให้ผู้ตั้งครรภ์ได้รับรังสีนี้บ่อยๆ อยู่ดี เพราะฉะนั้นเอกซเรย์เท่าที่จำเป็น หรือเลื่อนออกไปก่อน เพื่อความปลอดภัย
แนะนำวิธีดูแลช่องปากของคุณแม่ เพื่อลูกน้อย
เมื่ออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินต่างๆ และดูแลช่องปากเป็นพิเศษ เพื่อลูกน้อย และเพื่อสุขภาพของคุณแม่ด้วย วิธีดูแลช่องปากง่ายๆ มีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนม หรือเครื่องดื่มน้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด งดน้ำชา และกาแฟ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่
- หลังรับประทานอาหาร ให้แปรงฟันหรือบ้วนปากทุกครั้ง
- หลังอาเจียน ควรบ้วนปากทุกครั้ง
- หมั่นแปรงฟันให้สะอาด และใช้ไหมขัดฟันขจัดเศษอาหารตามซอกฟัน
- ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อตั้งครรภ์ในช่วง 4-6 เดือน ควรเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ ในช่องปาก
สรุป
คงจะได้คำตอบกันแล้วว่า คนท้องสามารถทำฟันได้ไหม? หลายๆ คนอาจเข้าใจผิดว่าขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ไม่สามารถทำฟันได้เลย จนอาจปล่อยให้ฟันผุ หินปูนเกาะ และเหงือกอักเสบ กลายเป็นส่งผลให้สุขภาพภายในช่องปากนั้นแย่ลง และเกิดปัญหามากขึ้นแทน วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องคือหมั่นดูแลความสะอาด พยายามปรับพฤติกรรมการกิน และหากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติในช่องปาก ก็ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการทันที ที่สำคัญอย่าลืมแจ้งทันตแพทย์ทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ เพื่อที่ทีมทันตแพทย์จะได้แนะนำวิธีการแก้ปัญหาที่ปลอดภัยที่สุดให้นั่นเอง